ว่าด้วยเรื่อง “วันพ่อ” ในญี่ปุ่น

แน่นอนว่านอกจาก “วันแม่” แล้ว ที่ญี่ปุ่นเองก็มี “วันพ่อ” ด้วยนะ!! แต่ถ้าถามคนญี่ปุ่นว่าระหว่าง “วันแม่” กับ “วันพ่อ” ผู้คนจดจำวันไหนได้มากกว่ากัน ต้องบอกเลยว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่...จดจำ “วันแม่” ได้มากกว่า “วันพ่อ” ค่ะ

ดังนั้น ในบทความนี้ เราจะพาทุกๆ ท่านไปทำความรู้จักกับ “วันพ่อ” ของญี่ปุ่นกันให้มากขึ้นนะคะ >w<

สำหรับวันพ่อของที่ญี่ปุ่นจะตรงกับวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน

ซึ่งในปี 2019 นี้ วันพ่อจะตรงกับวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน จ้าา



ว่ากันว่าวันพ่อของที่ญี่ปุ่นนั้นได้เริ่มมีขึ้นครั้งแรกเมื่อประมาณปี ค.ศ.1950 หรือปีโชวะที่ 25 แต่เพิ่งจะเริ่มเป็นที่แพร่หลายจนกลายมาเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไปเมื่อช่วงยุค ค.ศ.1980

ในขณะที่วันแม่เริ่มจัดขึ้นที่ญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อช่วงสมัยปลายยุคเมจิ (ค.ศ.1868-1912) และเริ่มกลายมาเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไปตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ.1949 หรือปีโชวะที่ 24 จึงนับได้ว่าในส่วนของวันพ่อเองก็ใช้เวลานานพอดูเหมือนกันเลยทีเดียวกว่าจะแพร่หลายมาได้จนถึงตอนนี้

ที่มาของวันพ่อ

สำหรับที่มาของวันพ่อในญี่ปุ่นนั้นมาจากหญิงสาวชาวอเมริกันคนหนึ่งนามว่า "Sonora Smart Dodd" ผู้เป็นภรรยาของ John Bruce Dodd


(ซ้าย) Sonora Smart Dodd ผู้ให้กำเนิดวันพ่อ
(ขวา) คุณพ่อของ Sonora ทหารที่เข้าร่วมสู้รบในสงครามกลางเมืองอเมริกา


คุณพ่อของโซโนร่ามีอาชีพเป็นทหาร

เมื่อสงครามกลางเมืองอเมริกาได้อุบัติขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1861 คุณพ่อของโซโนร่าก็ได้ถูกเรียกตัวเพื่อไปยังสนามรบ

ในช่วงระหว่างที่คุณพ่อออกไปสู้รบ คุณแม่ของโซโนร่าจึงต้องทำงานพร้อมกับเลี้ยงดูลูกๆ ทั้ง 6 คน ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง

เมื่อสงครามกลางเมืองอเมริกาได้สิ้นสุดลงเมื่อปี ค.ศ.1865 หลังจากที่คุณพ่อกลับมาได้ไม่นาน คุณแม่ก็ต้องสิ้นชีวิตลงเนื่องจากทำงานหนักจนเกินไป

หลังจากที่คุณแม่เสียชีวิตลงแล้ว การใช้ชีวิตของคุณพ่อและลูกๆ ทั้ง 6 ก็เริ่มต้นขึ้น คุณพ่อไม่ได้แต่งงานใหม่ แต่ทำงานหนักโดยไม่ได้หยุด พร้อมกับทำงานบ้านและดูแลลูกๆ ไปด้วย จนเมื่อเด็กๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ คุณพ่อก็จากโลกนี้ไปอย่างสงบ

และลูกคนสุดท้องจากในบรรดา 6 พี่น้องก็คือ "โซโนร่า" นั่นเอง

เมื่อโซโนร่ารู้ข่าวเรื่องวันแม่ ก็เลยเกิดความคิดที่อยากจะให้มีวันสำหรับขอบคุณคุณพ่อบ้าง จึงได้ทำเรื่องขอไปยังสมาคมนักบวชในนิกายโปรแตสแตนท์เมื่อปี ค.ศ.1909

และในที่สุดก็ได้มีการจัดงานฉลองวันพ่อครั้งแรกในวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ.1910

ต่อมา ในงานเฉลิมฉลองวันพ่อปี ค.ศ.1916 นาย Woodrow Wilson ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 28 ได้มาร่วมกล่าวสุนทรพจน์ จึงทำให้วันพ่อเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น

ในปี ค.ศ.1966 นาย Lyndon Johnson ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 36 ได้กำหนดให้วันพ่อตรงกับวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน และในปี ค.ศ.1972 ก็ได้มีการกำหนดให้วันพ่อเป็นหนึ่งในวันครบรอบของสหรัฐอเมริกา

สำหรับเหตุผลที่ว่าทำไมวันพ่อถึงอยู่ในเดือนมิถุนายน ก็เพราะว่าวันเกิดคุณพ่อของโซโนร่าตรงกับเดือนมิถุนายนนั่นเองค่ะ

ดอกไม้ที่นิยมมอบให้ในวันพ่อ

ถ้าพูดถึงวันแม่ ก็ต้องมอบดอกคาร์เนชั่นให้คุณแม่กันอย่างแน่นอนค่ะ โดยถ้าหากคุณแม่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะมอบดอกคาร์เนชั่นสีแดง แต่ถ้าหากคุณแม่เสียชีวิตลงแล้วก็จะมอบดอกคาร์เนชั่นสีขาวให้แทน

และสำหรับวันพ่อนั้น ลูกๆ จะนิยมมอบดอกกุหลาบให้คุณพ่อค่ะ

ส่วนสาเหตุที่ต้องเป็นดอกกุหลาบ ก็เพราะว่าโซโนร่าได้มอบดอกกุหลาบสีขาวไว้ที่หน้าหลุมฝังศพคุณพ่อในวันพ่อนั่นเอง

โดยหลักการการมอบดอกกุหลาบนั้นก็มีการใช้หลักการเดียวกันกับดอกคาร์เนชั่นของวันแม่เลย ก็คือ หากคุณพ่อท่านใดยังมีชีวิตอยู่ก็จะมอบดอกกุหลาบแดง แต่ถ้าหากคุณพ่อเสียชีวิตลงแล้วก็จะมอบดอกกุหลาบขาวให้แทน แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้มีการกำหนดเลือกสีดอกกุหลาบเอาไว้เป็นพิเศษนะคะ

และสำหรับที่ญี่ปุ่นเอง ลูกๆ ส่วนใหญ่จะนิยมมอบดอกกุหลาบสีเหลืองให้คุณพ่อกันค่ะ



ที่ประเทศอังกฤษ สีเหลืองถูกจัดให้เป็น "สีเพื่อปกป้องคุ้มครองตนเอง" และเมื่อได้มีการถ่ายทอดมายังสหรัฐอเมริกาก็ได้กลายมาเป็น "โบว์ริบบิ้นสีเหลืองเพื่อขอพรให้คนที่เรารักปลอดภัยจากสงครามและกลับมายังบ้านเกิดอย่างปลอดภัย"

ด้วยเหตุนี้ สีเหลืองจึงเป็นที่แพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกในฐานะ "สีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิต" และ "สีที่แสดงถึงความรัก ความไว้วางใจ และความเคารพ"

ที่ญี่ปุ่นในช่วงปี ค.ศ.1981 ก็ได้มีการจัด "แคมเปญริบบิ้นสีเหลืองรับวันพ่อ" ซึ่งทาง "คณะกรรมการจัดงานวันพ่อของญี่ปุ่น" เป็นผู้จัดงานนี้ขึ้น และสีของอิมเมจที่จัดงานในครั้งนั้นก็คือ สีเหลือง โดยในทุกๆ ปี จะมีการมอบรางวัล "Best Father Yellow Ribbon Award" ด้วย

ดังนั้น จึงทำให้สีอิมเมจของวันพ่อที่ญี่ปุ่นกลายเป็นสีเหลืองมาจนถึงปัจจุบันนี้ค่ะ



ด้วยเหตุที่สังคมญี่ปุ่นฝ่ายคุณแม่จะเป็นผู้รับผิดชอบงานบ้านและงานเลี้ยงดูลูกเป็นหลัก บวกกับมีคุณแม่บางท่านที่เลือกทำงานในสถานที่ที่อยู่ใกล้กับลูกๆ มากที่สุด จึงไม่แปลกใจเท่าไหร่ที่ว่าทำไมผู้คนส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นจึงจดจำวันแม่ได้มากกว่าวันพ่อ

แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายคุณพ่อเองก็มีส่วนในการดูแลครอบครัวโดยการออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ดังนั้นถ้าถามว่าใครที่ทุ่มเทเพื่อครอบครัวมากกว่ากันก็อาจจะตอบได้ยาก เพราะไม่ว่าจะเป็นฝ่ายพ่อหรือฝ่ายแม่ต่างก็ทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวเช่นกันค่ะ



และเนื่องในโอกาสวันพ่อของญี่ปุ่นที่จะถึงนี้ ถ้ามีโอกาส มาลองหาดอกกุหลาบสีเหลืองบอกรักและกล่าวความรู้สึกดีๆ ต่อคุณพ่อที่เลี้ยงดูเรามากันนะคะ ^^



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
jpnculture.net
abc.net.au