อากิตะใต้สายสโลว์ไลฟ์ ตอนที่ 2 ศิลปะงานไม้คาสึระ

หลังจากที่หนังท้องตึงจากอุด้งซาโต้กันแล้วหนังตาก็... หย่อน หยอกจ้า~ ยังไม่นอนสิคะ มาทำกิจกรรมกันต่อก่อน คนอย่างเราจะเที่ยวถ่ายภาพเฉย ๆ มันก็ไม่เท่เก๋กู้ดเอาซะเลยใช่มั้ยคะ ระดับเรามันต้องได้ฝากรอยเท้าเอาไว้บ้าง เรามาต่อกันที่ศิลปะการเพ้นท์ถ้วยคาสึระที่ อากิตะ ค่ะ!!



พอมาถึงทางร้านก็พาเราขึ้นไปที่ชั้นสองเลยค่ะและเราก็ได้เห็นสิ่งนี้อยู่บนโต๊ะของทุกคนค่ะ มันคือแบบฝึกการแกะลวดลายนั่นเอง

ศิลปะงานไม้คาสึระ

เราซึ่งเป็นเหยื่อรายแรกของเซนเซ (อาจารย์ผู้สอน) เพราะนั่งมุมสุด มาถึงเซนเซก็จะให้เราลองขีดเส้นตรงค่ะ เส้นแรก ๆ มันอาจจะหนาไปแต่ตรงนี้ให้สังเกตมือของเซนเซนะคะ เขาจะมีการจับตัวแกะให้อยู่ในมุมของมัน พอเราลงมุมได้ก็ง่ายค่ะ

ด้วยความที่เรามีเวลาน้อยเราจึงได้ฝึกแต่ลายที่ใช้เส้นตรงเท่านั้น ซึ่งน่าเสียดายมากค่ะ (แง้ เราอยากวาดเยอะ ๆ เห็นแบบนี้เราทำได้นะ) เซนเซก็จะให้ทุกคนฝึกที่จะลากเส้นไปเรื่อย ๆ จนกว่ามือจะนิ่งค่ะ



ที่จริงกว่าเซนเซจะสอนครบทุกท่านเราก็จะเสร็จประมาณ 2~3 แถวได้ค่ะ แต่ก็ควรฝึกเยอะ ๆ นะคะ เพราะตอนวางของจริงเราก็ไม่อยากให้งานเราพลาดจริงมั้ยคะ (แหะ ๆ) 



และนี่คือแผ่นที่เราเลือกทำครั้งนี้ค่ะ มันคือแผ่นสีดำมนแบบเรียบ ๆ เราเน้นมินิมอลไว้ก่อน ในใจคิดคืออย่างน้อยถ้าพลาดก็ยังดูแบบหรู ๆ อ่ะ สีดำทองก็น่าจะช่วยได้เยอะอยู่ ทางศูนย์จะมีให้เราเลือกสี่แบบ สามสีค่ะ คือแดง ดำ ส้ม และเป็นแบบมน ๆ สี่เหลี่ยม กับแบบวงกลม

เมื่อเห็นว่าเราฝึกมือกันได้สักพักแล้วเซนเซก็จะเริ่มหยิบของพวกเราไปขึ้นแบบให้ค่ะ ซึ่งตรงนี้เราก็สามารถเลือกได้จาก 6 แบบหรือว่าจะเลือกแบบที่ไม่มีในแบบก็ได้ อย่างชาวเราก็มีหลายคนที่เลือกลายซากุระที่ไม่ได้อยู่ในแบบเหมือนกันค่ะ 



เซนเซจะขิ้นลายเป็นกรอบให้และก็สอนเราว่าเจ้าเส้นตรงที่เราฝึกขีดกันอย่างหนักหน่วงเมื่อกี้นั้นเราจะลงตรงไหนดี สำหรับซึ่งก็จะมีลายง่าย ๆ ไปจนถึงยากค่ะ



จริง ๆ เราว่าลายมันไม่ยากนะคะ แต่จากเวลาแค่ 30 นาทีเราก็ไม่ควรเลือกลายที่จะเป็นภาระแก่เพื่อนร่วมทริป ซึ่งตอนนี้เด็กจิตกรรมอย่างเรามันยากมาก เพราะเราก็อยากได้ลายเท่ ๆ อ่ะ แต่ก็แบบเกรงใจเพื่อนร่วมทริป ได้แต่มาร์คไว้ในใจว่า เดี๋ยวเถอะกานดาข้าจะกลับมาอีกแน่ ลายหงส์เหนือมังกรนั้นไม่ยากเกินใจจะไปถึง (ฮ่า)

สรุปเราก็เลือกลายใบแปะก๊วยไปค่ะ เพราะเราชอบใบแปะก๊วยเป็นการส่วนตัว ไว้วันหลังจะมาเล่าเรื่องความพิเศษของใบแปะก๊วยให้ฟังกัน วันนี้ด้วยเวลาและความยาวยังไม่เหมาะให้เพ้อเจ้อตอนนี้ (ฮ่า) ที่จริงเคล็ดลับก็คือเราต้องเลือกลายให้เหมาะกับแผ่นที่เราเลือกมาค่ะ มันจะว้าวมากถ้าเราเลือกแล้วมันเหมาะกัน พอเลือกเสร็จเราก็นำมาขีด ๆ ตามที่เซนเซสอนค่ะ



ขั้นตอนต่อไปก็คือการลงยาค่ะ ใช่ค่ะไม่ผิดไปจากขั้นการลงรักปิดทองของไทยเท่าไหร่ค่ะ ที่จริงก็เหมือน ๆ เลยแหละค่ะ เพราะว่ายาตรงนี้ก็ทำมาจากยางไม้เหมือนกัน เซนเซจะเป็นคนนำยางไม้มาป้ายให้

ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือทุกคนดูที่พู่กันนะคะ ปกติตัวขนแปรงจะต้องเป็นพวกขนสัตว์หรือขนสังเคราะห์ใช่มั้ยคะ แต่นี่ใช้การทำไม้ให้กลายเป็นขนแปรงค่ะ เพื่อไม่ให้ยางไม้กัดขนแปรง เท่เนอะ ภูมิปัญญาที่เจ๋งสุด ๆ ไปเลย



หลังจากลงยาเสร็จเซนเซก็จะทำการเช็ดยาส่วนเกินออก ให้เหลือแต่ยาส่วนที่ลงไปในลายที่เราแกะ ก่อนจะใช้สำลีจุ่ม ๆ ผงทองคำ (ใช่ค่ะทองคำแท้เปปปอร์เซนต์สูง) แล้วก็นำมาถู ๆ กับแผ่นของเรา และท่านก็จะยื่นในเราลองถู ๆ เองบ้าง ซึ่งตอนแรกเราก็เอาะแปะ ๆ ลงไป แล้วเซนเซก็บอกว่าให้ถูวน ๆ เพื่อให้ทองติดแน่นค่ะ 





เสร็จแล้ว!! น้องแท่นใบแปะก๊วยของเรา ถึงจะลายน้อย ๆ แต่ก็อยากจะขิงว่าทางเราได้ตวัดปลายเส้นให้พลิ้ว ๆ ยกปลายไว้ด้วย และใบเล็ก ๆ นั่นขึ้นเองวาดเองจ้า (ขิงข่าห้าสิบมากเว่อร์)



ยังไม่จบแค่นั้นเนื่องจากพวกเราน่ารักมาก (?) เซนเซจึงแกะสลักชื่อพวกเราให้ข้างหลังด้วยค่ะ ถ้าใครเป็นคนไทยกังวลว่าจะไม่มีชื่อแบบญี่ปุ่นก็สามารถให้เซนเซเขียนเป็นคาตะกานะได้

ส่วนใครที่มีคันจิพ้องเสียงชื่อแนะนำให้ใช้เลยเพราะมันจะดูคูลมาก เราก็ทำเช่นกัน (ฮ่า) เมื่อเสร็จสิ้นทุกคนแล้วเซนเซก็ได้แถมแผ่นทองให้กับผู้หญิงคนละแผ่นค่ะ ให้เก็บเอาไว้...



ก่อนจะชี้ชวนกันดูภาพเพ้นฝาผนังที่ใช้เทคนิคเดียวกันเพ้นท์เป็นของขึ้นชื่อต่าง ๆ ของเมือง อากิตะ และเซนเซก็ให้ทายว่าภาพไหนเป็นฝีมือของเซนเซด้วยค่ะ ใบ้ให้ว่าอยูใน 8 ภาพนี้ ใครทายถูก... ก็ถือเป็นความภูมิใจไปนะคะ ไม่ได้พกรางวัลมาแจก



หลังจากที่เราเพ้นท์ไม้กันไปแล้วเราก็คงจะสงสัยกันบ้างว่าวัตถุนั้นคืออะไรใช่มั้ยคะ มาค่ะเราจะพาไปดูกันต่อ จำตอนที่เราบอกตอนเครื่องลงไว้ได้มั้ยคะ เมืองนี้มีไม้เยอะใช่มั้ยคะ ตอนนี้แหละค่ะที่เราจะมาแนะนำให้รู้จักกับสิ่งที่เป็นที่สุดของเมืองทางตอนเหนือกันค่ะ นั่นก็คือศิลปะการกลึงไม้นั่นเอง



ที่นี่จะอธิบายตั้งแต่การเลือกไม้แต่ละชนิดเลยค่ะ เพราะเครื่องเรือนและเครื่องใช้แต่ละชนิดนั้นก็เหมาะกับไม้คนละแบบค่ะ โดยไม้ที่ใช้นั้นจะเป็นไม้ตั้งแต่ อายุ 20~50 ปีค่ะ โดยจะมีการปลูกพร้อมกับตัด เพราะฉะนั้นหากตัดต้นที่คุณปู่เราปลูกไว้เราก็ต้องปลูกอีกหนึ่งต้นให้คุณหลานเรามาตัดไปใช้ค่ะ เพราะเป็นการทำแบบสืบทอดแบบนี้จึงทำให้ป่าไม่หายไปและศิลปะคงอยู่ยาวนานอีกด้วยค่ะ



เราก็จะได้เห็นตั้งแต่ไม้ต้นแบบเครื่องมือการกลึงไม้ในยุคต่าง ๆ แล้วก็อย่างที่เราบอกไปว่าที่นี่เขาใช้ไม้ที่เป็นไม้อายุมาก วงปีสูงและทำการกลึงด้วยวิธีเฉพาะซึ่งในการใช้ไม้แต่ละชนิดนั้นก็ต้องไปฟังกันเองนะคะ ถ้าเขียนตรงนี้ทั้งหมดก็จะยาวไป (ฮ่า) และที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือวิวัฒนาการของเครื่องมือค่ะ

ที่นี่ได้เก็บไว้ตั้งแต่เครื่องมือในสมัยแรก ๆ มาจะถึงเครื่องมือสมัยปัจจุบันเลยค่ะ เมื่อสมัยก่อนก็เป็นการกลึงของง่าย ๆ อย่างถ้วยจานชาม จนกระทั่งมีการพัฒนาการมาจนถึงการกลึงและแกโต๊ะเลยค่ะ



อย่างที่ได้เห็นค่ะ นอกจากเครื่องมือกลึงแล้วก็มีเครื่องมือที่พวกเราได้ใช้กันเมื่อครู่อย่างพวกพู่กันทายางไม้ที่เราได้บอกไปรวมถึงการนำสีธรรมชาติต่าง ๆ มาเพ้นท์เครื่องเรือนด้วยค่ะ การที่ได้ฟังเขาบรรยายถึงภูมิปัญญาต่าง ๆ นี่มันสุดยอดไปเลยนะคะ ยิ่งถ้าใครคลั่งไคล้งานไม้แล้วไม่อยากให้พลาดจริง ๆ ค่ะ



ภาพนี้ก็คือฉากกั้นห้องที่ทำมาจากไม้ค่ะ พอได้ไม้มาก็ทำงานลงยาสีดำก่อนจะกะและเพ้นด้วยสีธรรมชาติทีละชั้นทีละชั้นเพื่อให้เกิดเป็นภาพนี้ ปกติเรามักจะเห็นฉากกั้นห้องเป็นผ้าหรือกระดาษใช่มั้ยคะ ได้มาเห็นเป็นฉากกั้นห้องแบบนี้ก็ไม่ธรรมดาเลยเนอะ แต่ตกใจตอนนี้ยังเร็วไปค่ะ



เพราะนี่ต่างหากที่น่าสนใจค่ะ เราเดินมาประมาณกลางห้องก็จะได้เห็นโต๊ะไม้ขนาดใหญ่ประมาณ 8 คนนั่งอยู่กลางห้องค่ะ โต๊ะนี้หนาประมาณ 5 นิ้วได้ เป็นลายดอกบ๊วยลงทองค่ะ ซึ่งทำจากต้นไม้ต้นเดียวค่ะ คือฝานแนวขวางออกมาจากต้นไม้อายุเกิน 50 ปีต้นนึงค่ะ

ตอนเราฟังด้วยความเป็นคนรักต้นไม้แทบเป็นลม แต่ก็ปลอบใจตัวเองว่าเขาปลูกเพิ่มทุกครั้งที่ตัด (เอามือลูบอก) มันเป็นงานศิลป์ที่สวยและแสดงถึงวิถีชีวิตของชาว อากิตะ เมืองที่เต็มไปด้วยธรรมชาติจริง ๆ ค่ะ






นี่ก็เป็นการโชว์ผลงานการแกะและเพ้นท์เครื่องเรือน ทั้งแบบเป็นภาพที่ใช้สีธรรมชาติ และแบบที่แกะลงรักปิดทองแบบที่เราได้ลองทำกันเมื่อครู่ค่ะ เราได้แอบถ่ายผลงานระดับชั้นเซียนมาให้ชื่นชมกัน แต่ในพิพิธภัณฑ์ยังมีอีกมากเลยค่ะ ไม่อยากให้พลาด



ศิลปะคาสึระ

จากนั้นเราก็จะได้ลงมาดูในโซนจัดแสดงสินค้าค่ะ ซึ่งพอมาถึงโซนนี้บอกเลยค่ะว่าถ้าใครเป็นสายงานไม้งานศิลป์ต้องกุมกระเป๋าไว้แน่น เลยค่ะ เพราะทุกชิ้นนั้นสวยมาก ๆ และทุกชิ้นก็สุดยอดมาก ๆ ตั้งแต่ชิ้นเล็ก ๆ อย่างชุดแก้วเหล้าไปจนถึงตู้ใส่เสื้อผ้าแบบโบราณเลยค่ะ

อย่างที่เห็นค่ะราคาเองก็แรงพอ ๆ กับความงามเลย แต่ขอบอกว่าคุ้มนะคะ เพราะว่าของแต่ละชิ้นนั้นออกแบบมาอย่างดีค่ะทั้งการกลึงไม้ที่พิถีพิถัน การลงแบบลงสีที่สวยงาม เราไม่ควรประเมินค่างานศิลป์ด้วยราคาจริงมั้ยคะศิลปะคาสึระ

ศิลปะคาสึระเครืองใช้ทุกชนิดที่นำมาขายนี้ก็จะนำไม้ไปอบก่อนลงสีและก่อนลงมือแกะลายค่ะ การนำไม้ไปอบก่อนจะเป็นการไล่ความชื้นจากไม้ออกไปก่อนรอบนึงและจะทำให้ไม้เหนียวขึ้นด้วยค่ะ กลิ่นไม้อบก็... เหมือนเบค่อนรมควันค่ะ (ฮ่า) ด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ ที่ได้ฟังบรรยายมา ถ้วยข้าวราคา 25,920 เยนก็ดูไม่แพงค่ะ

เกมเครื่องดื่มขอส่งท้ายด้วยสิ่งนี้ค่ะเจ้าสิ่งนี้ก็คือ!!! เกมดื่มค่ะ (ฮ่า) เราอยากพรีเซนต์มากๆ เพราะคุณผู้บรรยายเขามาอธิบายตรงนี้กับเราค่ะ มันคือภาชนะที่มีขนาดไม่เท่ากันและจะมีรูปสัตว์ต่าง ๆ อยู่ตรงก้นภาชนะและลูกเต๋าค่ะ เวลาเล่นก็ทอยเต๋าออกหน้าไหนก็ดื่มนิฮงชูจากภาชนะนั้น ๆ ค่ะ ใครออกนกกะเรียนติด ๆ ก็... ระวังไปเร็วนะคะ (*´∀`*)

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับอากิตะตอนที่สองของเรา ยังคงยาวจุใจใช่มั้ยคะ เหมือนเดินเที่ยวด้วยกันเลยเนอะ~ ที่จริงอยากเล่าให้ทุกคนฟังมากกว่านี้แต่คิดว่าบางอย่างก็ควรไปดูเองนะคะ เมืองอากิตะทางตอนใต้เป็นเมืองเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยวิถีชาวเมืองค่ะ อย่างร้านคาสึระนี้ก็เป็นร้านที่เกิดมาจากธุรกิจชุมชนสมัยโบราณที่ทำการตัดไม้มาสร้างเป็นเครื่องเรือนและพัฒนามาเรื่อย ๆ การที่เมืองนี้เป็นเมืองอากาศเย็นสบาย จากของเพื่อดำรงชีพก็พัฒนามาเป็นงานศิลป์ได้ค่ะ พอติดตามวิถีเขาไปเราก็เริ่มสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นและประณีตของชาวเมืองเขาค่ะ มันยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าเมืองนี้มีเสน่ห์ไม่น้อยเลยเหมือนกันเนอะ~