"Amabie" สัตว์ประหลาดตัวน้อยที่กำลังโด่งดังในญี่ปุ่นยุคโควิด-19

นับตั้งแต่ยุคสมัยโบราณ ไม่ว่าประเทศใดๆ ต่างก็มีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติเป็นของตัวเอง ชาวญี่ปุ่นเองเรียกสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติเหล่านี้ว่า โยไก (Yokai) มีความหมายว่า ภูติผีปีศาจ ซึ่งแตกต่างจากวิญญาณ ทั้งนี้โยไกแต่ละชนิดต่างก็มีรูปร่างและอิทธิฤทธิ์แตกต่างกันออกไป ที่สำคัญโยไกเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงปีศาจร้ายที่สร้างหายนะให้แก่มนุษย์อย่างเดียว โยไกบางชนิดก็มีนิสัยเป็นมิตรและยังนำพาโชคลาภมาสู่ผู้พบเห็นอีกด้วย

วันนี้เราจะพามารู้จักปีศาจตัวน้อยที่กำลังโด่งดังที่ญี่ปุ่น หรือ อามะบิเอะ (アマビエ: Amabie)  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่โควิดกำลังระบาดอย่างหนัก เพราะนอกจากอะมะบิเอะจะมีอิทธิฤทธิ์ช่วยป้องกันโรคระบาดแล้ว มันยังมีรูปร่างหน้าตาน่ารักน่าชังเป็นพิเศษ ถึงขนาดทางกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นได้นำเอาภาพอามะบิเอะมาใช้ในแคมเปญป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกด้วย





ตามตำนานญี่ปุ่น “อะมะบิเอะ” เป็นปีศาจเงือกที่มีจะงอยปากคล้ายนก ผมยาว มีสามหาง อามะบิเอะปรากฏตัวครั้งแรกในแถบทะเลฮิโกะ (Higo) ปัจจุบันคือ จังหวัดคุมาโมโตะ (Kumamoto Prefecture) มีเรื่องเล่าต่อกันว่า สมัยเอโดะ ในปี ค.ศ.1846 ยามชายฝั่งนายหนึ่งได้สังเกตเห็นสิ่งมีชีวิตเรืองแสงในทะเลช่วงพลบค่ำของคืนหนึ่ง เมื่อเข้าไปตรวจดูใกล้ๆ เขาก็ได้พบกับ อะมะบิเอะ ที่โผล่ขึ้นมาจากท้องทะเล อะมะบิเอะตนนี้ยังทำนาย 2 เรื่องให้เขาฟังว่า อีกไม่นานจะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรครั้งใหญ่เป็นระยะเวลานาน 6 ปี แต่หลังจากนั้นก็จะเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ตามมา ซึ่งหนทางป้องกันคือให้เขาวาดรูปตัวของมันและเผยแพร่กับทุกคนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วชาวเมืองจะคลาดแคล้วปลอดภัยจากโรคระบาดที่กำลังจะเกิดขึ้น หลังจากนั้นเจ้าอามะบิเอะก็กลับลงสู่ทะเลไป นับแต่นั้นมาชาวญี่ปุ่นสมัยก่อนจึงเชื่อว่าหากแสดงภาพวาดของ “อะมะบิเอะ” ก็จะสามารถปัดเป่าเรื่องร้ายได้



เอกสารเกี่ยวกับอามะบิเอะที่ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1864 ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University Library)

ศาสตราจารย์คาซึฮิโกะ โคมัตสึ (Kazuhiko Komatsu) จากศูนย์วิจัยนานาชาติเพื่อการศึกษาญี่ปุ่นในเกียวโตได้กล่าวไว้ว่า มีการค้นพบเอกสารบันทึกเกี่ยวกับ อามะบิเอะ ซึ่งถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและมีอายุย้อนกลับไปถึงปี ค.ศ. 1864 เขาเชื่อว่าสาเหตุที่ชาวญี่ปุ่นในสมัยก่อนวาดรูปโยไกออกมานั้น เป็นกระบวนการนำความกลัวและความหวังออกจากจิตใต้สำนึกถ่ายทอดลงบนแผ่นกระดาษ จนเมื่อมาถึงสมัยเอโดะ (1603 - 1868) ผู้คนถึงเริ่มตระหนักว่าโยไกเป็นเพียงจินตนาการที่ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์เท่านั้นและไม่มีอยู่จริง ทำให้โยไกกลายมาเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับความบันเทิงแทน


ภาพด้านบน: แคมเปญของทางกระทรวงสาธารณะสุขญี่ปุ่นได้ใช้ภาพอะมะบิเอะในการถ่ายทอดข้อความ ขอความร่วมมือในการป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19






แม้แต่คุกกี้ ขนมวากาชิแบบญี่ปุ่น พวงกุญแจ และอื่นๆ อีกมากมายก็ยังทำออกมาเป็นลายอามะบิเอะ


ทิ้งท้ายสักเล็กน้อย แม้ภัยพิบัติครั้งนี้จะสร้างความเสียหายไปทั่วโลก แต่ก็ขอให้ทุกคนสู้ไปพร้อมๆ กัน แล้วมาเที่ยวญี่ปุ่นอีกนะคะ ^^