การคัดแยกขยะ เรื่องที่เหมือนจะเล็กน้อย แต่แสดงความมีระเบียบของคนญี่ปุ่น

ในไทยจะมีถังขยะเป็นสีๆ ให้สำหรับแยกประเภทขยะเวลาทิ้ง แต่พอเอาเข้าจริงๆ ถึงแม้เราจะแยกประเภทขยะไป สุดท้ายขยะทุกประเภทก็จะถูกเทผสมปนเปกันอยู่ดี ผู้เขียนเคยไปภูเขาขยะตอนทำงานอาสาสมัคร ซึ่งที่นั่นจะมีคนเก็บขยะอาศัยอยู่ พวกเขาทำเป็นอาชีพ คอยนั่งคุ้ยขยะแล้วแยกประเภทนำไปขาย ไทยเราคงจะยกหน้าที่แยกขยะให้กับพวกเขาเหล่านั้นไปแล้วล่ะมั้ง แต่ในญี่ปุ่นการคัดแยกขยะถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องทำ อย่างไรก็ตามในแต่ละเมืองจะมีระเบียบการแยกขยะที่แตกต่างกันออกไป เรียกได้ว่าเข้มงวดกันไปคนละแบบเลยทีเดียว


สมัยที่ผู้เขียนเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ เมืองที่ผู้เขียนอาศัยนั้นมีระเบียบการแยกขยะที่จะแบ่งขยะออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ ขยะเผาได้ ขยะเผาไม่ได้ และขยะรีไซเคิล ซึ่งแต่ละประเภทจะต้องใช้ถุงที่มีสีแตกต่างกัน เราสามารถหาซื้อถุงเหล่านี้ได้จากร้านขายของต่างๆ ช่วงที่มาญี่ปุ่นใหม่ๆตอนปี 1 ที่ห้องของผู้เขียนจะมีขยะพวกถุงขนมปังกับเศษกระดาษสะสมไว้ในห้องเต็มไปหมด ไม่รู้ว่าจะทิ้งอย่างไรดี กลัวทิ้งผิด เพราะที่หอพักของมหาวิทยาลัยเวลาจะทิ้งขยะ จะต้องเขียนเลขห้องของตัวเองติดถุงขยะไว้ก่อนนำไปทิ้งที่ห้องเก็บขยะ คนที่ทิ้งขยะมั่วๆใส่มันรวมกันทุกประเภทในถุงเดียวจะถูกประจาน โดยถุงขยะของตัวเองที่ทิ้งไป จะถูกยกกลับมา วางทิ้งคืนไว้ที่หน้าห้อง ซึ่งมันน่าอายมากๆ ใครเดินผ่านหน้าห้องก็จะรู้ทันทีว่าทิ้งขยะมั่ว ส่วนขยะที่ใหญ่มากเกินไป เช่น โทรทัศน์ เตียง ตู้เย็น หากคิดจะทิ้งก็จะต้องโทรศัพท์นัดทางการให้มาเก็บไปและเสียเงินค่าบริการ เพื่อนร่วมรุ่นเคยแอบยกโซฟาไปทิ้งข้างแม่น้ำตอนกลางดึก แต่ว่าของที่ทิ้งชิ้นอื่นๆดันมีที่อยู่ตัวเองติดเอาไว้ พอตำรวจตรวจเจอ ตำรวจถึงกับตามมาที่อพาร์ตเมนต์ลากตัวไปสถานีตำรวจ โดนเรียกค่าปรับคนละ 100,000 เยน แต่สุดท้ายก็ถูกผ่อนผันให้ไม่ต้องจ่ายไป


ตอนนี้ผู้เขียนเรียนจบและย้ายมาทำงานอีกเมืองหนึ่ง เคยคิดว่าเมืองที่อยู่เมื่อก่อนทิ้งขยะลำบาก มาที่เมืองนี้ยิ่งลำบากมากกว่าเดิม เมืองที่อยู่ปัจจุบันมีถุงสำหรับทิ้งขยะเพียงแค่ถุงใสๆ ขายอยู่แบบเดียวเท่านั้น ถุงนี้มีไว้ทิ้งขยะสดที่ย่อยสลายตามธรรมชาติได้เอง ส่วนขยะอื่นๆ ทั้งหมดจะถูกแยกประเภทยิบย่อยมาก เช่น ขวดแก้วที่ต้องแยกตามสี ขวดน้ำ พลาสติก ถาดโฟม กระป๋องอะลูมิเนียม กระดาษ วัสดุประเภทผ้า กล่องนม ขยะพวกนี้เราจะต้องล้างและตากให้แห้งแยกเก็บไว้เองที่บ้าน จากนั้นจะมีวันที่กำหนดว่าทางการจะมาเปิดรับเอาขยะพวกนี้ไป เราจะต้องหอบขยะทั้งหมดไปที่จุดที่เขาเปิดรับ แล้วเอาไปทิ้งเอง เขาจะไม่มาเก็บตามบ้านให้ ซึ่งผู้เขียนเองก็ยังไม่ค่อยชิน มันเป็นอะไรที่ดูแปลกมาก ทั้งๆ ที่บรรจุภัณฑ์ประเภทใช้แล้วทิ้งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เราประหยัดเวลา แต่หากอาศัยอยู่ที่เมืองนี้ เราต้องมายืนล้างมันทีละอันๆ เพื่อแยกประเภทก่อนนำไปทิ้ง ถึงแม้ว่าระเบียบการทิ้งขยะแบบนี้จะทำให้รู้สึกยุ่งยาก แต่ก็ถือว่าเป็นการช่วยลดขยะได้อย่างดีเยี่ยมเลยทีเดียว เพราะไม่ว่าเราจะใช้ภาชนะใช้แล้วทิ้ง หรือภาชนะพวกแก้ว เซรามิค เราก็ต้องล้างมันเหมือนกันอยู่ดี สู้ใช้จานชามของเราเองไปเลยจะดีกว่าเยอะ ความโหดของระเบียบการทิ้งขยะไม่ได้มีเพียงเท่านี้ หากทิ้งขยะไว้ในจุดเก็บขยะ แล้วพวกนกมาจิกทึ้งทำให้ถุงขาด พนักงานจะไม่เก็บถุงขยะไป จะปล่อยทิ้งไว้แบบนั้น หากเวลาผ่านไปเจ้าของถุงไม่มาเก็บให้เรียบร้อยก็จะมีสติกเกอร์สีแดงแปะเตือน หากทิ้งขยะมั่วประเภทก็จะรู้ได้ทันทีเพราะเป็นถุงใส ถุงที่มีขยะมั่วๆ ก็จะไม่ถูกเก็บไปเช่นกัน


คนที่เคยมาญี่ปุ่นจะรู้ว่าถังขยะนั้นหายากขนาดไหน แต่ที่เราเห็นกันบ่อยที่สุดคงจะเป็นถังขยะที่อยู่คู่กับตู้กดอัตโนมัติ ถังขยะเหล่านี้มีไว้สำหรับกระป๋องและขวดน้ำเท่านั้น อย่าริเอาขยะประเภทอื่นๆ พยายามไปยัดใส่เด็ดขาด เพราะเป็นการเสียมารยาทต่อบริษัทเจ้าของตู้มาก


ที่เราเห็นบ้านเมืองญี่ปุ่นสะอาด ก็คงเป็นเพราะเขามีระเบียบกันสุดๆ แบบนี้ มันคงถูกปลูกฝังกันมาอย่างยาวนาน ขนาดจะทิ้งขยะยังมีระบบเป็นเรื่องเป็นราว เข้มงวดกันสุดๆ ความสะอาดสวยงามนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาง่ายๆ จริงๆ


บทความโดย ละมุนชมพู