หลายคนคงจะเริ่มชินกันแล้วถ้าอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ที่ผู้คนอาศัยกันอย่างหนาแน่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ต้องแย่งกันกินกันใช้วุ่นวายกันยกใหญ่ ยิ่งเฉพาะกรุงเทพมหานคร ตอนนี้ช่วงเวลาเร่งด่วนนี่ก็เหนื่อยเอาการทำเอามนุษย์เงินเดือนหมดแรงก่อนเข้าออฟฟิศเสียอีก
และพูดถึงเรื่องแย่งกัน ในเมืองใหญ่ในโตเกียวก็ต้องยกให้กับรถไฟในช่วงเวลาเร่งด่วนเลยเลย ทุกคนอาจจะรู้กันดีว่ามันแออัดมากๆ เพราะประชากรก็หนาแน่นแถมทุกคนก็ต้องเร่งรีบ (เขารักษาเวลากันมากๆ) จากคนญี่ปุ่นที่นอบน้อมมีมารยาทและรักษากฏระเบียบ จะแปลงร่างกลายเป็นอีกคนหนึ่งโดยปริยายจนกว่าจะออกจากระบบรถไฟ แต่ใครที่ยังไม่เคยไปเที่ยวญี่ปุ่นก็คงรู้แค่ว่ามันแออัด แต่ยังไม่รับรู้ถึงความระทมขมขื่นโดยเฉพาะช่วงเวลาก่อนเข้างานและเลิกงาน ก็เลยจะมาพูดถึงพฤติกรรมอันน่าทึ่งและน่าสะพรึ่งของพวกเขาเวลาขึ้นรถไฟฟ้า เผื่อใครที่เลี่ยงการเดินทางไม่ได้จริงๆ จะได้เตรียมการรับมือไว้ได้ แถมจะได้ไม่ต้องไปเม้งแตกใส่เขาด้วย
1. อุ่นละมุนกลิ่นกาย กับการอัดเข้ารถไฟฟ้าจนกายาสะท้าน
ประเทศญี่ปุ่นเนี่ยขึ้นชื่อเรื่องระบบรถไฟมาก และคนแน่นที่สุดในโลกด้วย ก็คงบอกได้แค่ว่า มันจริงฮะ ตอนนั่งจากต้นสายทุกคนเขาก็เข้ารถไฟอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เข้าไปนั่ง พอเริ่มแน่นขึ้น ความหนาแน่นภายในก็เริ่มเพิ่มขึ้น ยิ่งตอนประตูจะปิดเนี่ยจะมีเสียงประกาศมาว่า 「駆け込み乗車をお辞めください。お荷物をお引きください」 (คะเกะโกะมิโจ้ฉะโอ๊ะ โอะยะเมะกุด้ะไซ โอะนิโมซึโอ๊ะ โอะฮิคิกุดะไซ) (พยายามเลียนเสียงสุด ๆ) “กรุณาอย่าฝืนเข้ารถไฟ กรุณาดึงสัมภาระไว้ด้วย” บางคนก็วิ่งเข้ามา เหมือนนักกีฬาวิ่ง 100 เมตรเลยครับ แล้วตอนเข้ามาในรถไฟที่คนเต็มแล้ว ก็ต้องอัดกันเข้ามา ก็ดัน ๆ จนคนที่ยืนตรงบริเวณประตูกลายเป็นปลาทูน่ากระป๋องไปเลยครับ เพราะมันแน่นกว่าที่ประเทศไทยมาก (ดังนั้น ผมแนะนำให้ยืนบริเวณที่คนนั่งนะครับ ยืนสบายมาก ไม่ค่อยโดนอัดเท่าไหร่ แค่ออกลำบากนิดหน่อย เหมือนกับเวลาขึ้นรถไฟฟ้าในประเทศไทยเลยครับ)
ส่วนที่ประกาศเป็นอย่างนั้นเพราะว่า เมื่อก่อนมีพนักงานคอยผลักคนเข้ารถไฟครับ เดี๋ยวนี้คนญี่ปุ่นหลาย ๆ คนก็บอกว่า ไม่มีพนักงานอัดผู้โดยสารแล้ว แต่เปลี่ยนเป็นห้ามไม่ให้ประตูหนีบผู้โดยสารแทน (อ้าว?) เนื่องจากเคยมีอุบัติเหตุที่เกิดกับผู้โดยสารครับ ดังนั้นจึงประกาศว่าให้ดึงสัมภาระไว้เองครับ
ถ้าไม่มีพนักงานดันเข้ารถไฟ ก็ต้องเอาตัวเองดันชาวบ้านเอาครับ อ่อ ถ้าสังเกตจากรูปที่เค้าจับขอบประตูได้ เพราะข้างในรถไฟเค้ามีขอบให้จับนะครับ จะได้ดันตัวเองเข้ารถได้.. รถไฟก็เอื้อต่อไลฟ์สไตล์คนญี่ปุ่นจริง ๆ..
2. คลื่นสึนามิมวลชนตอนคนออกจากรถไฟฟ้า
อีกเวลาที่รู้สึกแย่มาก ๆ เลย คือตอนที่มีคนลงจากรถไฟตอนที่มีคนแน่น ๆ ครับ อันนี้รู้สึกอึดอัดกว่ามาก เพราะเหมือนมีคลื่นคนซัดเราออกจากรถไฟยังไงอย่างนั้น ถ้าจับไว้ไม่แน่นก็จะโดนซัดไปกับคลื่นคนได้เลย
บางคนก็รีบออกมาก ก็ชนทุกคนที่ขวางทางออก เหมือนกับวิ่งฝ่ากำแพงในเกมส์อ่าครับ ทำให้เซได้ง่ายมาก ๆ ส่วนผมทักษะการฝ่ากำแพงยังไม่สูงมาก เวลาขึ้นรถแล้วคนแน่น ๆ ก็จะภาวนาขอให้มีคนที่อยู่ใกล้ ๆ ออก จะได้เดินออกตามเขา เพราะขอออกเองทีไร ออกแทบไม่ทันครับ.. นอกจากนี้ เวลาบางคนจะออก เขาไม่ค่อยพูดขอทางกันเลยล่ะ เข้าจะดัน ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ หลาย ๆ ทีผมก็งง ๆ ว่า ดันทำไมหนักหนา (ห๊ะ!!! อยากยืนสบาย ๆ..) พอบิดตัวให้ออกก็ อ่อ เพิ่งเข้าใจว่าจะออก ดังนั้นเวลาขึ้นรถไฟเนี่ย ต้องมองคนรอบ ๆ ด้วยนะครับ
3. ไม่ค่อยยอมขึ้นรถคันถัดไป
ไม่ว่าคนจะแน่นแค่ไหน คนญี่ปุ่นก็สามารถเบียดเข้ามาได้ครับ หลังจากเสียงประกาศแบบอัดเสียงไว้ว่า “กรุณาอย่าฝืนเข้ารถไฟ กรุณาดึงสัมภาระไว้ด้วย” ก็จะมีอีกเสียงประกาศจากนายขบวนรถไฟเองพูดว่า 「ドアが閉まります。次の電車をご利用ください。」(โดะอะก๊ะชิมะริมัส สึงิโนะเด็นฉะโอ๊ะ โกะริโยกุดะไซ) “ประตูปิดแล้ว กรุณาขึ้นขบวนถัดไป”
แต่คนญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่ไม่ยอมแพ้ครับ จะพยายามเข้าจนถึงที่สุดก่อน ดังนั้นภาพที่ผมเห็นประจำคือ เวลารถไฟที่คนแน่น ๆ มาจอด ก็ต้องรอให้คนออกมาให้หมด แต่เสียงประกาศ “ประตูปิดแล้ว กรุณาขึ้นขบวนถัดไป” เนี่ย มันดังตั้งแต่คนในรถไฟยังออกมาไม่หมด พอผู้โดยสารลงหมดแล้ว ผู้โดยสารที่จะขึ้นรถประมาณ 10-20 คน สามารถขึ้นรถไฟได้ทั้งหมดก่อนที่ประตูจะปิดจริง ๆ ด้วยครับ
ตรงกันข้ามกับเวลาขึ้น BTS ที่พอคนเยอะหน่อย (ทั้ง ๆ ที่ตรงหน้าคนนั่งโล๊งโล่ง) คนไทยหลาย ๆ คนก็ยอมตั้งแต่หน้าประตูเลยครับ ผมนี่เห็นแล้วอยากใช้วิชาแทรกตัวของคนญี่ปุ่นมาก ๆ ที่เป็นอย่างนี้อาจารย์คนญี่ปุ่นของผมบอกว่า คนญี่ปุ่นเป็นคนจริงจัง และไม่ยอมไปสาย เพราะจังหวะการต่อรถไฟญี่ปุ่นที่สำคัญมาก พลาดแล้วเวลาเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ไหนจะมีขบวนด่วนโคตร (จอดแค่ไม่กี่สถานีในสาย) ด่วนพิเศษ ด่วน เกือบด่วน หวานเย็น (จอดทุกสถานี) ส่วนที่คนไทยรักความสบาย เราก็จะรอรถไฟขบวนต่อไป เพราะว่ามันมีแต่ขบวนหวานเย็น และพวกเราได้เผื่อเวลาเดินทางไว้แล้ว (หรือเปล่าเอ่ย?)
ทั้งนี้ ในบางสถานี อย่างเช่น Shibuya ที่ทางขึ้นของ Ginza Line จะมีป้าย “次発” (จิฮัตซึ) “ออกขบวนถัดไป” แปะอยู่ให้ไปเรียงแถวรอกันเลย ดังนั้นถ้าเห็นคนยืนรอไม่ยอมขึ้นทั้ง ๆ ที่ข้างในก็มีคนแล้ว ไม่ต้องกลัวว่าจะไปแซงเขา เพราะพวกเขาจะขึ้นขบวนถัดไปครับ
ถ้าคนเยอะจนเต็มรถไฟจริง ๆ ก็ต้องเอาหน้าเอามือเข้าแนบละ
4.ใช้ทริคพิเศษให้เพื่อนขึ้นรถไฟได้ทัน
สำหรับข้อนี้จะบอกว่าเสียสละก็คงไม่ถูกซะทีเดียว น่าจะเรียกว่ามนุษย์ป้ามากกว่า ที่ผมเคยเห็นคือ มีผู้หญิงคนหนึ่งวิ่งเข้ารถไฟตอนที่กำลังจะปิดประตู แล้วสิ่งที่เธอทำคือ เอาตัวไปกันประตูไม่ให้ปิดโดยตั้งใจ พอประตูหนีบโดนเธอ (ประตูรถไฟญี่ปุ่นมันดูบีบเบ๊าเบา เทียบกับที่ไทยครับ) ประตูก็จะกลับมาเปิดแปปนึง ก็มีผู้หญิงที่มากับเธอ แต่เพิ่งวิ่งมาถึงเข้าไปทันด้วย ผมเห็นแล้วก็อึ้งๆ ไปแปปนึง ถึงกับต้องทำกันขนาดนี้เลยหรอเนี่ย
ที่กล่าวมานี้ก็เป็นเพียงประสบการณ์ที่ผมเจอมากับตัวเองจากการสังเกตคนที่นี่นะครับ ผมคิดว่าทุก ๆ ที่บนโลกใบนี้ ก็มีคนทุกประเภทแหละครับ ตัวอย่างที่ยกมาก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง คือจะว่าเป็นนิสัยไม่ดีก็พูดได้ไม่เต็มปากเสียเท่าไหร่ เพราะถ้าเกิดคนส่วนใหญ่เขายอมรับกันได้เพราะว่าก็รีบกันทุกคนก็น่าจะเรียกว่าธรรมเนียมเสียมากกว่า หวังว่าจะเป็นตัวเลือกในการวางแผนการเดินทางของนักท่องเที่ยวทุกคนเพื่อจะหลีกเลี่ยงช่วงเวลาเร่งด่วน (7:00 – 9 :00 & 18:00-20:00) ได้นะครับ ขอให้เที่ยวให้สนุกในญี่ปุ่นนะครับ
บทความโดย SanShiro
ภาพประกอบจาก
http://tokyoproject2014.weebly.com/