จากพิธีกรรม สู่กีฬา ซูโม่

จากพิธีกรรมบูชาเทพเจ้า สู่กีฬาแห่งพละกำลัง จนได้กลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น ที่ได้กล่าวมานี้คือ ซูโม่ กีฬาที่แสดงออกถึงความแข็งแกร่งและการต่อสู้อันนำไปสู่การประสบความสำเร็จ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับซูโม่กันค่ะ

จากพิธีกรรม สู่กีฬา ซูโม่

สำหรับ ซูโม่ (sumo) เมื่อแรกเริ่มเดิมทีนั้น ซูโม่ถือเป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นเพื่อการบูชาต่อองค์เทพเจ้าในศาสนาชินโต โดยในยุคสมัยนั้นยังไม่ได้มีการกำหนดเรื่องของน้ำหนัก และสัดส่วนของซูโม่แต่อย่างใดค่ะ เป็นเพียงการแสดงท่าทางการต่อสู้กันด้วยลักษณะปล้ำกันของผู้ชายสองคน และเป็นเพียงผู้ชายเท่านั้นค่ะที่แสดงได้

เมื่อเวลาล่วงเลยมาเข้าสู่ยุคสมัยเฮอัน ซูโม่ได้กลายเป็นการแสดงเพื่อความบันเทิงให้กับชนชั้นสูงในพระราชวัง โดยจะคัดเลือกมาจากเหล่าทหารที่มีร่างกายแข็งแรงและสมบูรณ์ ซึ่งในช่วงนี้เองที่เหล่าซูโม่ได้เริ่มเพิ่มน้ำหนักให้มากขึ้นและมีรูปร่างใหญ่โตขึ้นด้วยค่ะ และก็มาถึงจุดเปลี่ยนของซูโม่จากพิธีกรรมและการแสดงเพื่อความบันเทิงในรั้วในวัง ก็ได้กลายเป็นกีฬาที่เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคสมัยเอโดะเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันค่ะ 

ในยุคเอโดะนั้นมีการคัดเลือกเด็กผู้ชายเข้ารับการฝึกเป็นซูโม่อย่างจริงจังค่ะ และหลังจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงนั้นสำหรับคนที่มีความมุ่งมั่นที่อยากจะเป็นนักกีฬาซูโม่ต่างก็พากันมุ่งหน้าเข้าสู่โตเกียว เพื่อมาฝึกเป็นซูโม่ชนิดที่เรียกได้ว่ากลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับความสนใจเลยค่ะ

จากพิธีกรรม สู่กีฬา ซูโม่

สำหรับเมืองโตเกียว เมืองที่เหล่าผู้ที่ต้องการฝึกฝนเพื่อเป็นซูโม่เข้ามานี่เองค่ะ พวกเขามุ่งตรงไปที่ย่านเรียวโกกุ (Ryogoku) เรียกว่าย่านนี้เป็นเหมือนอาณาจักรของเหล่านักซูโม่เลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะในย่านนี้เป็นที่ตั้งของเฮย์ยะ หรือก็คือค่ายฝึกซูโม่ กว่า 40 แห่ง และสนามกีฬาซูโม่ Kokugikan สถานที่จัดการแข่งขันซูโม่ ที่รอต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่นั่นเองค่ะ

ปัจจุบันที่ซูโม่ได้กลายเป็นกีฬาไปแล้วนั้นจึงทำให้หน่วยงานของทางรัฐเข้ามาดูแลการจัดแข่งขันซูโม่ในระดับมืออาชีพ โดยผ่านทางสมาคมซูโม่ญี่ปุ่น หรือ Japan Sumo Association ซึ่งในทุกๆ ปีจะจัดให้มีการแข่งขันซูโม่ทั้งหมด 6 ฤดูกาลด้วยกันค่ะ โดยเริ่มต้นที่เดือนมกราคม, พฤษภาคม และกันยายน โดย 3 ครั้งแรกนี้จะจัดแข่งขันที่โตเกียว และในเดือนมีนาคม จัดแข่งขันที่โอซาก้า เดือนกรกฎาคม ที่นาโกย่า และเดือนพฤศจิกายน ที่เมืองฟูกุโอกะ ซึ่งในแต่ละฤดูกาลการแข่งขันซูโม่ใช้เวลา 15 วัน ซึ่งในระหว่างนั้น ซูโม่แต่ละคนจะเข้าร่วมหนึ่งการแข่งขันต่อวันค่ะ แต่หากยังเป็นซูโม่ที่อยู่ในลำดับรองลงมาจะเข้าร่วมการแข่งขันน้อยกว่าซูโม่ลำดับสูงกว่าค่ะ

นอกจากย่านเรียวโกกุนี้จะมีค่ายฝึกและสนามกีฬาซูโม่แล้ว ก็ยังมีพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ภายในสนามกีฬาซูโม่ Kokugikan ก็คือ พิพิธภัณฑ์ซูโม่ พิพิธภัณฑ์ซูโม่จะจัดนิทรรศการหมุนเวียนเกี่ยวกับเรื่องซูโม่ เช่น ภาพเหตุการณ์ที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของซูโม่ และภาพนักกีฬาซูโม่ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งชุดประกอบพิธีที่สวมใส่โดยนักซูโม่มืออาชีพที่ได้เกษียณตำแหน่งไปแล้ว เป็นต้น 

นอกจากพิพิธภัณฑ์แล้วยังมีสถานที่ที่เคยสร้างเป็นสนามกีฬาซูโม่ที่อยู่ในวัดอีกด้วยค่ะ ซึ่งที่นั่นก็คือ วัดเอโคอิน (Ekoin Temple) โดยสนามกีฬาซูโม่นี้สร้างขึ้นในปี 1909 ที่บริเวณลานกลางแจ้งของวัด ซึ่งก็อยู่ใกล้ๆ กับสถานีเรียวโกกุ ซึ่งในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมวัดแห่งนี้จะสามารถมองเห็นอนุสาวรีย์หินที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัด 

โดยที่อนุสาวรีย์นี้เป็นเสมือนการรำลึกถึงบรรดานักซูโม่และหัวหน้าค่ายฝึกซูโม่ในอดีตนั่นเองค่ะ และอีกหนึ่งสถานที่ที่มีความเป็นมา และเกี่ยวข้องกับซูโม่มากว่าหนึ่งร้อยปีก็คือ ศาลเจ้าโทมิโอกะ ฮาจิมังงุ (Tomioka Hachiman Shrine)

จากพิธีกรรม สู่กีฬา ซูโม่

ศาลเจ้าโทมิโอกะ ฮาจิมังงุ


ศาลเจ้าโทมิโอกะ ฮาจิมังงุ เป็นสถานที่ที่ใช้จัดการแข่งขันซูโม่ ในช่วงกลางยุคเอโดะ (ปี 1603-1867) โดยรัฐบาลเอโดะก็อนุญาตให้จัดการแข่งขันซูโม่ขึ้นในศาลเจ้าโทมิโอกะฮาจิมังงุได้ ต่อจากนั้นเป็นต้นมาการแข่งขันซูโม่ประจำฤดูใบไม้ผลิ และฤดูใบไม้ร่วงก็ได้กลายเป็นธรรมเนียมประจำของศาลเจ้าโทมิโอกะ ฮาจิมังงุไป ในปัจจุบัน 

ภายในบริเวณศาลเจ้าโทมิโอกะ ฮาจิมังงุ เป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ที่มีการจารึกชื่อของ โยโกะสึนะ (Yokozuna) ซูโม่อันดับหนึ่ง และ Ozeki ซูโม่อันดับที่สอง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเมื่อมีโยโกะสึนะคนใหม่ ก็จะมีการจัดพิธีขึ้นสังเวียนเพื่อเป็นการถวายต่อศาลเจ้าโทมิโอกะ ฮาจิมังงุทุกครั้งอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีคลังสมบัติขนาดเล็ก ที่จัดแสดงสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับเหล่าซูโม่ อาทิเช่น ภาพพิมพ์รูปนักซูโม่บนแผ่นไม้ หรือบนแผ่นหิน และสิ่งพิมพ์เก่าๆ ที่เกี่ยวกับซูโม่ค่ะ แต่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้โดยปกติแล้วจะถูกปิดไว้นะคะ แนะนำว่าสำหรับนักท่องเที่ยวหากอยากเข้าชมในส่วนของพิพิธภัณฑ์ให้ติดต่อสอบถามทางสำนักงานดูแลศาลเจ้าโทมิโอกะ ฮาจิมังงุกันดูนะคะ

เที่ยวจักรวาลของซูโม่กันไปแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญนั่นก็คืออาหารการกินนั่นเองค่ะ ก็ด้วยร่างกายที่ใหญ่โต ย่อมมาพร้อมกับอาหารในแต่ละมื้อที่ใหญ่ยิ่งตามไปด้วยค่ะ ซึ่งเมนูเพิ่มน้ำหนักตัวให้กับเหล่าซูโม่ หรือจะเรียกให้ถูกว่าเป็นอาหารจานหลักของซูโม่ก็คือ หม้อไฟซูโม่ หรือจังโกะนาเบะ (Chanko Nabe) 

จังโกะนาเบะเป็นเมนูจานร้อน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ยุคสมัยเอโดะ ซึ่งเหตุผลหลักๆ ที่นักซูโม่รับประทานจังโกะนาเบะกันก็เนื่องมาจากต้องควบคุมน้ำหนักและสุขภาพที่ดี แต่ในปัจจุบันจังโกะนาเบะได้กลายเป็นอาหารที่เป็นนิยมสำหรับคนทั่วไป จึงมีร้านจังโกะนาเบะที่เปิดให้บริการสำหรับบุคคลทั่วไปหลายร้าน 

จากพิธีกรรม สู่กีฬา ซูโม่

จังโกะนาเบะ (Chanko Nabe) 


จังโกะนาเบะนี้จะประกอบไปด้วย น้ำซุปจากน้ำต้มโครงไก่ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล เห็ด และผักต่างๆ รวมถึงเนื้อปลา เต้าหู้ญี่ปุ่น หรือลูกชิ้น  โดยเสิร์ฟพร้อมเครื่องเคียงอย่าง ข้าวสวย ไข่ตุ๋น เทมปุระ อูด้ง ซูชิ ซาซิมิ และอื่นๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละร้าน และเซ็ตเมนูที่เลือกรับประทานกันค่ะ

ในปัจจุบันจังโกะนาเบะสามารถหารับประทานได้ทั่วไปในญี่ปุ่น จนเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเมนูที่เราๆ ท่านๆ ที่ไม่ใช่ซูโม่ร่างใหญ่ก็รับประทานได้เช่นกันค่ะ และด้วยความนิยมและชื่อเสียงของจังโกะนาเบะ ทำให้นักท่องเที่ยวหลายต่อหลายคนเลือกที่จะมุ่งหน้าไปรับประทานจังโกะนาเบะกันที่ย่านเรียวโกกุ ที่เป็นอย่างนั้นเพราะที่นี่ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของจังโกะนาเบะ และมีจำนวนร้านค่อนข้างมาก ที่พิเศษอีกอย่างอยู่ที่เจ้าของร้านจังโกะนาเบะแทบจะทุกร้านของที่นี่เป็นกิจการของนักซูโม่เก่าก่อนเป็นเสียส่วนใหญ่ค่ะ เรียกได้ว่าถ้ามารับประทานจังโกะนาเบะที่นี่ ก็เหมือนได้รับประทานจังโกะนาเบะแบบต้นตำรับได้เลยค่ะ 

ถึงแม้จะผ่านกาลเวลามายาวนาน แต่ซูโม่ก็ยังเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์อันดับต้นๆ ที่ทำให้เราคิดถึงเมื่อพูดถึงญี่ปุ่น นับว่าเป็นความยิ่งใหญ่และทรงพลังของซูโม่จริงๆ ค่ะ และถ้าหากใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวญี่ปุ่น  ณ ย่านเรียวโกกุ อาณาจักรแห่งซูโม่แล้วละก็ อย่าลืมไปเที่ยวชมศึกษาความเป็นมาของซูโม่จากพิพิธภัณฑ์และวัดกันดูนะคะ ก่อนจะปิดท้ายด้วยการชิมเมนูอาหารหลักอย่างจังโกะนาเบะ รับรองว่าอร่อยสุโก่ยเลยละค่ะ

 

ข้อมูลจาก

https://www.japan-guide.com/

http://tokyobackpack.com/sumo-japan/

https://allabout-japan.com/th/article/7910/

https://www.th.jal.co.jp/thl/th/guidetojapan/detail/?spot_code=sumo