เรียนรู้ความเป็นอยู่ในช่วงสงครามที่พิพิธภัณฑ์ Showa-kan @โตเกียว

สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดในวันที่ 15 สิงหาคม 1945 ก่อนหน้านั้น 10 ปีและหลังจากนั้น 10 ปีผู้คนในญี่ปุ่นใช้ชีวิตกันอย่างไร? คำตอบของเรื่องราวเหล่านี้จัดแสดงอยู่ที่ Showa-kan กรุงโตเกียวครับ

การเดินทางไป Showa-kan นั้นสะดวกสบายง่ายมาก เพียงแค่นั่งรถไฟใต้ดินในโตเกียวสาย Tozai (สีฟ้า) หรือ Hanzomon (สีม่วง) ก็ได้ มาลงที่สถานี Kudanshita แล้วออกทางออกที่ 4 ก็จะพบกับอาคารสูงที่มีพิพิธภัณฑ์อยู่ข้างใน จากนั้นชำระค่าเข้าชมอันแสนถูกเพียง 300 เยน แล้วก็เข้าไปชมได้เลย

ในพิพิธภัณฑ์มีตัวหนังสือภาษาอังกฤษน้อยแต่สามารถยืม Audio Guide ภาษาอังกฤษจากเจ้าหน้าที่ได้ฟรี



ในช่วงต้นของสงครามรัฐบาลมุ่งเน้นให้ประชาชนภูมิใจ รักชาติ และสามัคคีกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยใช้วิธีในรูปแบบต่างๆ แม้กระทั่งแนะนำให้วางบ๊วยไว้ตรงกลางข้าว เพื่อให้ดูเหมือนสัญลักษณ์ธงญี่ปุ่น ธรรมเนียมนี้ยังคง สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน



คนที่ไม่ได้ออกไปรบก็ให้กำลังใจพวกที่ออกไปรบด้วยวิธีที่ต่างกัน
พวกผู้ชายจะเขียนคำอวยพรคำปลุกใจ บนผืนธงชาติ มอบให้คนที่ไปรบ
ส่วนพวกผู้หญิงจะเย็บปุ่มไว้ที่ผ้า ในผ้าหนึ่งผืนจะมีเป็นร้อยปุ่ม โดยแต่ละปุ่มปม ต้องมาจากคนเย็บแต่ละคนที่ต่างกัน
พวกผู้หญิงจึงมักจะรวมตัวกันที่สถานีรถไฟ เพื่อคอยเย็บปุ่มปมให้กันและกัน
โดยถ้าเย็บเป็นลายเสือได้จะดีที่สุด เพราะมีความเชื่อว่า เสือ แม้ห่างบ้านเดินทางไปไกลเพียงใดก็สามารถกลับบ้านได้ถูกต้องเสมอ





เมื่อสงครามมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น รัฐบาลก็เริ่มเข้ามาควบคุมการกินอยู่ ข้าวของประชาชน จำกัดข้าวของเครื่องใช้ เนื่องด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ประชาชนต้องเรียนรู้การปฐมพยาบาล การหลบภัย การการดับไฟ ฯลฯ
ผู้หญิงต้องไปทำงานในโรงงานแทนผู้ชายที่ออกไปรบ





เมื่อสงครามจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น ประเทศเต็มไปด้วยแม่หม้ายและเด็กกำพร้า ท่ามกลางอาคารบ้านเรือนที่พังพินาศจำนวนมาก อาหารการกินก็ขาดแคลน แต่คนในประเทศยังคงให้ความสำคัญกับการศึกษา ไม่กี่วันหลังจากสงครามเลิกโรงเรียนก็เปิดขึ้นมาใหม่ แม้จะไม่มีอาคารก็ตาม





รัฐบาลให้การสนับสนุนอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียนจูงใจให้เด็กมาเรียนหนังสือเพื่อมีอาหารทาน



และด้วยความช่วยเหลือจากฝ่ายอเมริกาบวกกับคนญี่ปุ่นเพียรพยายามดิ้นรน ในที่สุดก็สามารถฟื้นฟูประเทศขึ้นมาใหม่จนเป็นอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

สงครามสร้างความสูญเสียหลายทาง ดังนั้นสงครามจึงไม่ควรมีอีกต่อไป หากผู้นำกลุ่มไหนขัดแย้งกับกลุ่มไหน ควรหาทางออกกันให้ได้ อย่ามาก่อสงครามให้คนทั่วไปต้องเดือดร้อนกันอีกเลย