ประวัติความเป็นมา กว่าจะมาเป็น “เกลือโอกินาว่า”

ถ้าพูดถึงสินค้ายอดนิยมในโอกินาว่า ต้องยอมรับเลยว่าที่โอกินาว่าแห่งนี้มีสินค้าที่ขึ้นชื่ออยู่มากมายเลยทีเดียว และหนึ่งในสินค้าจากโอกินาว่าที่ผู้คนทั้งในและนอกประเทศญี่ปุ่นต่างให้การยอมรับนั่นก็คือ…

“เกลือโอกินาว่า”

เกลือโอกินาว่า เป็นสินค้าที่ผู้คนให้การยอมรับว่าเป็น “สุดยอดเกลือแห่งแดนอาทิตย์อุทัย” เพราะเป็นเกลือที่มีแร่ธาตุสูงกว่าเกลือที่ผลิตจากแหล่งอื่นๆ ในญี่ปุ่น แถมยังมีรสชาติที่หวาน อร่อย ไม่เหมือนใครด้วย

แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเส้นทางกว่าจะมาเป็นเกลือโอกินาว่าอย่างทุกวันนี้เป็นอย่างไร ดังนั้น ในบทความนี้เราจะขอพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับประวัติความเป็นมาของเกลือโอกินาว่ากันให้มากขึ้นนะคะ

 



ถึงแม้ว่าโอกินาว่าจะเป็นเมืองแห่งท้องทะเลที่มีทะเลสวยๆ สุดลูกหูลูกตา แต่เพื่อนๆ รู้ไหมว่า ในสมัยโบราณกาล ธุรกิจการทำเกลือไม่ได้เป็นที่นิยมในโอกินาว่าเลยนะ เพราะด้วยความที่ช่วงเวลากลางวันของที่นี่สั้นกว่าที่คิด ประกอบกับสภาพอากาศในช่วงหน้าร้อนที่มีพายุไต้ฝุ่นเกิดขึ้นบ่อยๆ และสภาพอากาศในช่วงหน้าหนาวที่มีเมฆมาก เลยส่งผลให้สภาพแวดล้อมในโอกินาว่าไม่เอื้ออำนวยต่อการทำเกลือเอาเสียเลย

แต่พอเข้าสู่ช่วงศตวรรษที่ 17 ก็ได้มีผู้นำเทคนิคการทำนาเกลือจากแคว้นซัตสึมะ (ดินแดนส่วนหนึ่งของจังหวัดคาโงชิม่าและจังหวัดมิยาซากิในปัจจุบัน) ที่เรียกว่า "อิริฮามะ" เข้ามาใช้ในโอกินาว่าโดยใช้ประโยชน์จากน้ำขึ้นน้ำลงนั่นเอง


ที่มาภาพ : tsunagaru-map.com


นับแต่นั้นเป็นต้นมา ก็เริ่มมีผู้คนในโอกินาว่าเริ่มทำเกลือมากขึ้น โดยจะนิยมทำกันในลักษณะนาเกลือตามบริเวณหาดโคลนของแนวปะการัง เช่น ย่านอาวาเสะในเมืองโอกินาว่า และย่านโทมาริในเมืองนาฮะ ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม เทคนิคในการทำเกลือในลักษณะนี้ก็อยู่ได้ไม่นานเท่าไหร่ เพราะในปัจจุบัน ผู้ผลิตจะใช้วิธีนำน้ำทะเลขึ้นมาต้มในห้องต้มเกลือแทนแล้ว ส่วนการผลิตเกลือในลักษณะดั้งเดิมที่โอกินาว่านี้จะเหลือแค่เฉพาะบนเกาะยากาจิเท่านั้น


ที่มาภาพ : tsunagaru-map.com


ในปี ค.ศ.1905 ณ ช่วงเวลานั้น ที่ญี่ปุ่นมีความจำเป็นต้องระดมทุนหาเงินสำหรับเอาไว้ใช้จ่ายในการทำสงครามระหว่างญี่ปุ่น-รัสเซีย เกลือจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทุกเพศทุกวัย และได้ถูกเลือกให้เป็นสินค้าที่อยู่ภายใต้ระบบการขายแบบผูกขาดด้วย แน่นอนว่าจุดประสงค์ประการหนึ่งก็เพื่อปกป้องประเทศด้วยการเพิ่มผลผลิตของเกลือเผื่อในยามคับขัน แต่แท้จริงแล้วเหตุผลหลักก็เพื่อเพิ่มรายได้จากภาษีนั่นเอง

หลังจากที่เกลือกลายเป็นสินค้าผูกขาดมาหลายสิบปี จนเข้าสู่ช่วงยุคฟื้นฟูประเทศเมื่อประมาณปี ค.ศ.1970 ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการผลิตเกลือ จึงส่งผลให้ไม่สามารถผลิตเกลืออย่างเสรีได้ โรงงานผลิตเกลือทั่วประเทศญี่ปุ่นกว่า 600 แห่ง ถูกสั่งปิด เหลือไว้ก็เพียงแค่โรงงานผลิตเกลือ 7 แห่ง ที่สามารถผลิตได้ตามกฎหมาย ซึ่งเกลือที่ผลิตและออกวางจำหน่ายจะเป็นเกลือบริโภคเสริมไอโอดีนหรือเกลือบริสุทธิ์เท่านั้น



ในช่วงเวลานั้น โอกินาว่ายังอยู่ภายใต้การอารักขาของสหรัฐอเมริกา จึงยังไม่มีผลกระทบอะไรมากนัก แต่พอได้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ.1972 กฎหมายดังกล่าวก็เลยถูกบังคับใช้ในโอกินาว่าไปด้วย ทำให้ไม่สามารถใช้น้ำทะเลจากโอกินาว่ามาผลิตเกลือได้ และส่งผลให้โรงงานผลิตเกลือตามที่ต่างๆ ในโอกินาว่าค่อยๆ ถูกปิดลง

ถึงแม้ว่าโอกินาว่าจะได้รับอนุญาตให้ผลิตเกลือแปรรูปที่รัฐบาลเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ แต่ด้วยลักษณะชนิดของเกลือที่ต่างจากกับที่เคยใช้ จึงส่งผลกระทบต่อการทำอาหาร และรสชาติของอาหาร ทำให้มีการเคลื่อนไหวต่อต้านในกลุ่มแม่บ้านที่ไม่พอใจกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้

หลังจากที่โอกินาว่าต้องใช้เกลือบริโภคเช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในญี่ปุ่น วันเวลาก็ล่วงเลยผ่านไปจนมาถึงปี ค.ศ.1997 ในที่สุด ระบบการผูกขาดเกลือก็สิ้นสุดลง และได้มีการแก้กฎหมายให้สามารถผลิตเกลืออย่างเสรีในเวลาต่อมา จึงส่งผลให้จำนวนโรงงานผลิตเกลือเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ รวมถึงที่โอกินาว่าด้วย

ในปัจจุบันที่โอกินาว่ามีโรงงานผลิตเกลือมากกว่า 30 แห่ง ซึ่งแน่นอนว่าวัตถุดิบที่นำมาใช้ก็ต้องมาจากน้ำทะเลของโอกินาว่า 100% เพราะโอกินาว่ามีน้ำทะเลและระบบนิเวศที่ดีอย่างปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล เลยทำให้เกลือโอกินาว่ามีแร่ธาตุสูงและมีรสชาติที่อร่อยมากๆ


©Okinawa Convention&Visitors Bureau



©Okinawa Convention&Visitors Bureau


หลายๆ คนอาจจะเข้าใจว่า เกลือโอกินาว่าก็คงเหมือนกับเกลือรสเค็มที่เราบริโภคกันอยู่ทั่วไปตามท้องตลาด แต่รู้ไหมว่าที่โอกินาว่าเขาผลิตและจำหน่ายเกลือมากถึงกว่า 100 ชนิด เลยทีเดียว!! ซึ่งนอกจากเกลือที่ผลิตด้วยรูปแบบตามธรรมชาติแล้ว ทางโรงงานก็ยังได้ผลิตเกลือรสชาติต่างๆ ขึ้นมาอีกมากมาย โดยการเติมวัตถุดิบต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่นเข้าไปในขั้นตอนการต้มเกลือ เช่น เกลือโคคุโต ที่เกิดจากการนำน้ำตาลดำไปต้มกับเกลือ, เกลือโนนิ ที่เกิดจากการนำเกลือไปต้มกับลูกยอ, เกลือเบนิอิโมะ ที่เกิดจากการนำเกลือไปต้มกับมันม่วง ฯลฯ โดยเกลือที่ได้ก็จะมีสี ลักษณะภายนอก และรสชาติที่แตกต่างกันออกไป





สาเหตุที่ตามโรงงานต่างๆ ได้ผลิตเกลือหลากหลายชนิดแบบนี้ ก็เพื่อช่วยเติมเต็มรสชาติอาหารให้อร่อยยิ่งขึ้น และเพื่อให้ผู้บริโภคได้มีทางเลือกในการเลือกซื้อเกลือเพื่อบริโภคมากยิ่งขึ้น ซึ่งเกลือที่ใช้ทานกับอาหารก็ยังถูกแยกชนิดตามอาหารที่กินในแต่ละประเภทด้วย เช่น เกลือที่ใช้ทานกับข้าวปั้น เกลือที่ใช้ทานกับผัก เกลือที่ใช้ทานกับปลา เกลือที่ใช้ทานกับเทมปุระ เกลือที่ใช้ทานกับเต้าหู้ ฯลฯ







นอกจากจะใช้ปรุงอาหาร หรือเอาไว้โรยอาหารก่อนรับประทานแล้ว ที่โอกินาว่าก็ยังมีการนำเกลือไปแปรรูปโดยใช้เป็นส่วนประกอบในการทำอาหารชนิดอื่นๆ เช่น เค้ก ไอศกรีม เซมเบ้ ฯลฯ



แถมตามโรงงานเกลือเองก็จะมีจุดสาธิตให้ได้ลองผลิตเกลือด้วยตัวเองด้วย ถ้าใครได้มีโอกาสไปโอกินาว่าก็อยากให้มาลองชมโรงงานเกลือกันดูนะคะ



และสำหรับใครที่ยังไม่มีโอกาสไปญี่ปุ่น แต่อยากได้ลองสัมผัสและลิ้มรสเกลือจากโอกินาว่าแบบแท้ๆ ตอนนี้ที่เมืองไทยก็ได้มีการนำเข้าเกลือโอกินาว่ามาจำหน่ายให้ผู้รักสุขภาพที่ชื่นชอบรสชาติอาหารญี่ปุ่นได้ซื้อเพื่อนำไปปรุงรสกันแล้วนะ

ตอนนี้ทาง JGB ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายเกลือจากโอกินาว่า ดังนี้
[smartslider3 slider=11]

สำหรับผู้ที่สนใจสั่งซื้อเกลือโอกินาว่า สามารถสอบถามและสั่งซื้อเพิ่มเติมได้ที่ JGB SHOP เลยจ้า

 

ที่มาข้อมูล

รายการ “ดูให้รู้” ตอน โอกินาวา ที่สุดของเกลือญี่ปุ่น
okinawatimes.co.jp
tsunagaru-map.com