ฉลอง ปีใหม่ญี่ปุ่น พร้อมเสริมดวงสไตล์แดนอาทิตย์อุทัย

ช่วงเทศกาล ปีใหม่ญี่ปุ่นแบบนี้ หลายคนอาจจะวางแผนฉลองปีใหม่กันแล้วแน่ๆ แต่สิ่งหนึ่งนอกจากการวางแผนไปเที่ยวคงหนีไม่พ้นการอธิษฐานขอพรให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายปกปักรักษา คุ้มครอง และดูแลคนที่เรารัก ทว่าถ้าเป็นประเทศอื่นล่ะ อย่างถ้าเป็นที่ญี่ปุ่น เขาจะฉลอง ปีใหม่ญี่ปุ่น กันแบบไหนนะ จะไปเที่ยวกันทั้งครอบครัวหรือเปล่า หรือสวดมนต์ข้ามปีกันบ้างหรือไม่ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับการฉลองปีใหม่ในแบบของญี่ปุ่นกันค่ะ

Kadomatsu


ฉลองปี ใหม่ญี่ปุ่น พร้อมเสริมดวงสไตล์แดนอาทิตย์อุทัย
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนค่ะว่า ประเทศญี่ปุ่นนั้นมีวัฒนธรรมและประเพณีการฉลองปีใหม่ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน เรียกได้ว่าส่งต่อกันมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบันในเรื่องของการฉลอง ปีใหม่ญี่ปุ่น ดังนั้น เรามาเริ่มต้นกันที่ เมื่อใกล้ปีใหม่ชาวญี่ปุ่นจะเริ่มประดับ Kadomatsu ซุ้มที่ใช้ประดับตกแต่งตามบริษัท ห้างร้าน และบ้านเรือน

ซึ่ง Kadomatsu ในอดีตจะนิยมทำจากไม้สน แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป จึงเปลี่ยนจากไม้สนเป็นไม้ไผ่ โดยจะตัดบากที่ปลายของไม้ไผ่ให้เป็นปลายแหลม จากนั้นตกแต่งด้วยใบเฟิร์น ใบสน ฟางข้าว และของมงคลต่าง ๆ แล้วนำไปวางตั้งไว้เป็นคู่บริเวณทางเข้าบ้าน บริษัท หรือห้างร้าน

ด้วยมีความเชื่อกันว่า Kadomatsu ที่ทำจากไม้ไผ่นั้นถือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ สามารถอัญเชิญเทพเจ้าให้ช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้าย สิ่งที่ไม่ดี ไม่ให้มากล้ำกรายคนในบ้านได้

Shimenawa




นอกจากนั้นยังมีการประดับ Shimenawa เชือกถักที่ทำจากเส้นฟางข้าว ทำขึ้นเพื่อเป็นการแบ่งเส้นเขตดินแดนของสวรรค์และโลกมนุษย์ โดยที่ส่วนปลายของ Shimenawa จะปล่อยเชือกให้ห้อยลงมาจำนวน 3 เส้น เส้น หรือ 7 เส้น เราจะพบเห็นได้บริเวณเหนือประตูทางเข้าศาลเจ้า เพื่อเป็นการป้องกันและขับไล่สิ่งที่ไม่ดีนั่นเอง

ซึ่งการประดับ Kadomatsu และ Shimenawa นั้นจะเริ่มประดับกันตั้งแต่ช่วงวันที่ 26-28 หรือ 30 ของเดือนธันวาคมของทุกปี และนอกจากจะมีการประดับเพื่อเป็นการอัญเชิญเทพเจ้าแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้นั่นคือ Kagami mochi โมจิที่เราจะนำไปปั้นเป็นรูปทรงกลมแบน แล้ววางไว้บนหิ้งหรือกล่องที่มำเป็นฐานวาง เพื่อเป็นการขอพรให้มีอายุที่ยืนยาวและเป็นการสักการะเทพเจ้า

Toshikoshi soba


ฉลองปี ใหม่ญี่ปุ่น พร้อมเสริมดวงสไตล์แดนอาทิตย์อุทัย

อัญเชิญเทพเจ้าลงมาให้อุ่นใจกันแล้ว ต่อไปก็จัดหาอาหารการกินกันค่ะ เรามาเริ่มกันที่ชุดเล็ก ๆ กันก่อนเลยค่ะ อย่าง Toshikoshi soba โซบะชุดเล็กที่ทั้งอิ่มและเป็นมงคล เหมาะสำหรับใครที่ไม่มีเวลาเตรียมตัวแต่ก็อยากฉลองปีใหม่ไปด้วย

เพราะมีความหมายแฝงว่าเส้นโซบะเป็นเส้นยาวเปรียบเหมือนให้มีอายุที่ยืนยาว และยังเชื่อกันอีกว่าหากใครที่ไม่ได้รับประทานก่อนที่ช่วงปีใหม่จะมาถึง จะทำให้สิ่งไม่ดีมาถึงตัวผู้ที่ยังไม่ได้รับประทานด้วย ถือว่าเป็นอาหารมงคลที่ต้องรับประทานให้ตรงกับช่วงเวลาดี ๆ นั่นเองค่ะ

Osechi ryori




เรามาต่อกันที่อาหารมงคลชุดใหญ่อย่าง Osechi ryori กันค่ะ Osechi ryori ในอดีตได้ทำขึ้นเพื่อสักการะต่อเทพเจ้าเมื่อเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนฤดูกาลและสามารถเก็บไว้รับประทานกับครอบครัวได้ ด้วยความเชื่อที่ว่าตอนเราอัญเชิญเทพนั้นจะไม่ทำอะไรที่เป็นการอึกทึกเสียงดัง หรืออีกนัยคือการให้แม่บ้านได้พักเหนื่อยจากการทำอาหารทำงานมาตลอดทั้งปีนั่นเอง Osechi ryori ประกอบไปด้วย

Kuro mame (ถั่วดำ) โดยการนำถั่วดำไปต้มแล้วเคี่ยวจนแห้ง มีความหมายว่า สุขภาพร่างกายแข็งแรง

Kazu noko (ไข่ปลาเฮอร์ริง) ให้นำไปหมักเกลือพอประมาณ แล้วนำไปแช่น้ำเพื่อลดความเค็มลง หรือจะเอาไปหมักในน้ำซุปปลาทูน่าแห้งเป็นการเพิ่มรสชาติ มีความหมายว่า การให้มีลูกหลานไว้สืบสกุล

Gomame (ลูกปลาซาดีนตากแห้ง) นำไปปลาที่ตากแห้งนี้ไปปรุงรสด้วยน้ำตาลและโชยุ เพื่อให้ได้รสหวานเค็มกลมกล่อม แล้วโรยงาเพื่อเพิ่มความหอมชวนรับประทาน และด้วยตัวของคำว่า Gomame ในภาษาญี่ปุ่น จะแปลได้ว่า ข้าวห้าหมื่น เปรียบได้กับการขอพรให้สามารถปลูกพืชผลและพืชไร่ได้อย่างอุดมสมบูรณ์

Tataki gobou (รากหญ้าเบอร์ด็อก) นำไปนึ่งแล้วจึงทุบให้นิ่ม จากนั้นให้ผ่าออก ถือกันว่าเป็นการเปิดรับโชคและมีความหมายว่ามั่นคงและแข็งแรง

Ebi (กุ้ง) นำไปทำให้สุกด้วยการนึ่งหรือการต้ม มีความหมายว่า ให้มีอายุที่ยืนยาว

Kinton (ก้อนทองคำ) ซึ่งทำจากเนื้อเกาลัด ถัวลันเตา และมันฝรั่ง โดยบดส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันแล้วปั้นเป็นก้อนกลม เป็นตัวแทนของทองคำ มีความหมายว่า ให้มีฐานะร่ำรวย

Kamaboko (เนื้อปลาบดอัดแท่ง) นำมาหั่นให้เป็นแว่นแล้วรับประทาน ซึ่งให้ความหมายในทางการขับไล่สิ่งชั่วร้ายและการเฉลิมฉลอง

Tai (ปลาตะเพียนทะเล)

Kobu maki (สาหร่ายม้วน) ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ให้ความหมายที่เป็นมงคล ด้วยปลาตะเพียนทะเลที่เป็นสีแดงก็เป็นสีมงคลแห่งการฉลองต่างๆและก็เป็นการขอพรผ่าทางสาหร่ายม้วนให้สุขภาพที่แข็งแรงและอายุยืนยาวนั่นเอง จัดว่าเป็นอาหารที่ให้ทั้งความหมายที่ดี เป็นมงคล และดีต่อผู้ที่รับประทานจริง ๆ ค่ะ

Hatsumode



เสิร์ฟความมงคลกับอาหารชุดเล็กชุดใหญ่ให้อิ่มกันไปแล้ว ต่อจากนี้เราก็จะไปสักการะ ไหว้พระของพรกันค่ะ ซึ่งชาวญี่ปุ่นนิยมไปไหว้ขอพรจากเทพเจ้ากันในครั้งแรกของรอบปี (Hatsumode) โดยส่วนใหญ่จะนิยมไปศาลเจ้ากันตั้งเข้าปีใหม่ ช่วงวันที่ 3-7 มกราคม หรืออาจจะเลยไปจนถึงวันที่ 15 ของเดือนมกราคมกันเลยทีเดียว

และเมื่อได้ไปถึงศาลเจ้าแล้ว เหล่านี้คือสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นทำกันค่ะ เรามาเริ่มกันที่การโยนเหรียญอัญเชิญเทพเจ้าให้มารับการสักการะ จากนั้นก็จูงมือกันไปสั่นกระดิ่ง ซึ่งเชือกที่ใช้สั่นกระดิ่งจะอยู่ข้างหน้ากล่องถวายเงินที่เราได้โยนเหรียญเพื่ออัญเชิญเทพเจ้าไปก่อนหน้านี้ค่ะ

โดยเชื่อกันว่าสั่นกระดิ่งคือการอัญเชิญเทพเจ้าที่สถิตอยู่บนสวรรค์ให้ลงมายังโลกมนุษย์เพื่อมารับการสักการะจากเราค่ะ หลังจากนั้นให้โค้งคำนับสองครั้งแล้วพนมมือและจึงขอพร พูดถึงการขอพรนี้เขามีเคล็ดลับนะคะ ว่าการขอพรต้องชัดเจนและตรงไปตรงมา ไม่ใช้คำที่กำกวม เพราะอาจจะทำให้เทพเจ้าไม่ทราบว่าสิ่งที่เราขอนั้นเราต้องการผลสำเร็จในระดับไหนนั่นเองค่ะ เรียกง่ายๆว่า อยากเรียนที่ไหน อยากทำงานบริษัทอะไร หรืออยากแต่งงานกับใคร ก็ให้เราบอกชื่อกันไปเลยค่ะ และเมื่อเราขอพรเสร็จแล้วให้ปรบมือสองครั้งและโค้งคำนับหนึ่งครั้งเป็นอันเสร็จช่วงเวลาแห่งการขอพรค่ะ



ไหน ๆ เราก็พูดถึงศาลเจ้ากันไปแล้ว วันนี้เราก็มีศาลเจ้ามาแนะนำกันค่ะ เริ่มกันที่ศาลเจ้ายาเอะกาคิ (Yaegaki) อยู่จังหวัดยามะนาชิ เป็นศาลเจ้าชื่อดังในเรื่องขอพรเกี่ยวกับความรัก ให้สมหวังดังใจปรารถนา และมาต่อด้วยศาลเจ้าโอมิยะฮาจิมังกุ (Oomiya Hachimangu) ตั้งอยู่ที่จังหวัดโตเกียว ขึ้นชื่อเรื่องการขอพรให้คลอดลูกได้อย่างปลอดภัย ให้เลี้ยงดูเด็กและให้เด็กว่านอนสอนง่ายค่ะ

ต่อด้วยศาลเจ้าฟูจิซังฮงกุ เซนเกนไทฉะ (Fujisan Hongu Sengen Taisha) ตั้งอยู่ที่จังหวัดชิสุโอกะ ขึ้นชื่อเรื่องการขอพรให้ส่งเสริมความสัมพันธ์ ให้ความรักราบรื่นไร้อุปสรรค

สำหรับใครที่ชื่นชอบศิลปินและไอดอลญี่ปุ่น แล้วชื่นชอบการไปดูคอนเสิร์ต เราขอแนะนำศาลเจ้าไคจูริอินาริ (Kaichu Inari) อยู่ที่โตเกียว สถานี Shin-Okubo ใกล้ ๆ กับย่านการค้าแหล่งช้อปปิ้อย่างชินจูกุ ขึ้นชื่อเรื่องขอตั๋วดูคอนเสิร์ต ขอตั๋วงานอีเว้นท์ หรือบัตรงานพบไอดอลนั่นเองค่ะ และด้วยผลของการขอพรที่สัมฤทธิ์ผลและเป็นจริง จึงทำให้ศาลเจ้าไคจูริอินาริเป็นรู้จักของบรรดาแฟนคลับของศิลปินและไอดอลของญี่ปุ่น และนักท่องเที่ยวอีกด้วย

แต่หากใครอยากขอพรเกี่ยวกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ขอแนะนำที่ศาลเจ้า อิมามิยะ เอบิสุ (Imamiya Ebisu Shrine) แห่งเมืองโอซาก้า จัดว่าเป็นศาลเจ้าที่ผู้คนนิยมขอพรให้กิจการและการทำมาค้าขายต่างๆให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งๆขึ้นไป

ใครที่เป็นนักเสี่ยงโชคก็ต้องที่ใจกลางเมืองเกียวโต ท่านจะได้พบกับศาลเจ้ามิคาเนะ (Mikane  Shrine) ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการขอพรให้ถูกล็อตเตอรี่และขอให้ประสบความสำเร็จในการลงทุนต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกกล่าวถึงกัน แต่ไม่ได้มีเพียงแค่นี้นะคะ เพราะแทบจะทุกมุมเมืองของญี่ปุ่น จะมีศาลเจ้า วัด และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซุกซ่อนอยู่ รอให้เรา ๆ ท่าน ๆ ที่ไปเยือนได้สักการะกันอยู่อีกหลายที่เลยค่ะ

Omikuji




และอีกสิ่งหนึ่งที่ชาวญี่ปุ่นทำหลังจากขอพรเทพเจ้าแล้วนั่นก็คือ การเสี่ยงเซียมซี หรือใบโอมิคุจิ (Omikuji) ซึ่งเปรียบเสมือนวาจาศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้า เพราะในใบโอมิคุจิที่เราได้มานั้นจะมีคำทำนาย

โดยมีตั้งแต่คำทำนายที่โชคดีที่สุด (Dai kidchi) จนถึงคำทำนายที่โชคร้ายที่สุด (Dai kyou) นั่นเอง แต่หลังจากที่ได้ใบมาแล้ว หากเป็นใบที่โชคดี ก็ให้พกติดตัวเอาไว้ แต่ถ้าได้ใบที่โชคร้าย ให้ผูกฝากไว้ที่ศาลเจ้า ไม่นำกลับบ้านก็ได้เช่นกันค่ะ

นอกจากการเสี่ยงเซียมซีกันแล้ว ชาวญี่ปุ่นยังนิยมเขียนขอพรไว้ที่ป้ายแผ่นไม้ ซึ่งเป็นรูปทรงหลังคา หรือที่เรียกว่า เอมะ (Ema) แล้วนำไปผูกไว้ในมุมที่ศาลเจ้าจัดไว้ให้ และก่อนกลับบ้านก็ต้องปิดท้ายด้วยการซื้อเครื่องรางต่าง ๆ ที่ช่วยส่งเสริม คุ้มครอง และป้องกัน ผู้ที่เป็นเจ้าของเครื่องราง ติดมือติดตัวกลับบ้านกันไปด้วย เรียกว่าไปถึงศาลเจ้าทั้งทีก็ต้องได้ไหว้เทพ ขอพร และซื้อเครื่องรางกลับบ้านนะคะ

จากที่เล่าเรียงกันมานี้ บอกได้เลยว่าทั้งประณีตและใส่ใจ แถมด้วยความเป็นมงคลที่มาพร้อมกับความอร่อยนี้ เป็นเพราะการฉลองปีใหม่ในแบบชาวญี่ปุ่นนั้นมีรากฐานที่สืบต่อกันมาจากในอดีตและยังคงปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีชาวญี่ปุ่นวางแผนฉลองปีใหม่นอกประเทศกันอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ละทิ้งความเป็นประเทศอนุรักษ์นิยมไป ดูมีเสน่ห์ มีมนต์ขลัง เป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นชาวอาทิตย์อุทัยอยู่อย่างชัดเจนจริง ๆ ค่ะ

ข้อมูลจาก
http://www.j-campus.com/article/vie
https://anngle.org/th/j-lifestyle/3lovepowerspot2019.html
https://allabout-japan.com/th/article/6128/