กลิ่นเหม็นประหลาดที่คาบสมุทรมิอุระ อาจเป็นสัญญาณบอกเหตุถึงการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่!?

จากที่ทางเราได้นำเสนอข่าวกลิ่นเหม็นประหลาดที่คาบสมุทรมิอุระไปเมื่อคราวก่อน
(อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่นี่ )

ล่าสุด คุณทาคาฮาชิ มานาบุ ศาสตราจารย์พิเศษประจำศูนย์วิจัยอารยธรรมมหาสมุทรแปซิฟิก มหาวิทยาลัยริทสึเมคัง และนักวิชาการเรื่องแผ่นดินไหวก็ได้ออกมาวิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าว่าจะมีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ “เมกะทรัสต์นันไค” เกิดขึ้น



สิ่งที่ศาสตราจารย์พิเศษทาคาฮาชิได้ให้ความสนใจมาเป็นระยะเวลาหลายปีก็คือ ความสัมพันธ์ในเชิงเหตุและผลระหว่าง "กลิ่น" กับการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

ศาสตราจารย์พิเศษทาคาฮาชิกล่าวว่า ตอนที่ได้ทำการทดลองการถล่มของหินด้วยแรงดันประดิษฐ์สมัยที่ยังอยู่ในทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งเมืองโอซาก้าเมื่อช่วงปี 1970 ก็มีกลิ่นเหม็นไหม้แปลกๆ เกิดขึ้นในระหว่างการทดลอง จนมาในปัจจุบันนี้ก็กลายเป็นที่รู้กันว่ากลิ่นเหม็นไหม้แปลกๆ เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่ได้รับการยืนยันก่อนการเกิดแผ่นดินไหวและการถล่มของทางลาดชัน

โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เมืองโกเบเมื่อปี 1995 ซึ่งหลายเดือนก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวก็มีผู้ได้กลิ่นเหม็นประหลาดแบบนี้ตรงบริเวณทางตะวันออกของเมืองโกเบ





ศาสตราจารย์พิเศษทาคาฮาชิบอกว่า การเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นแบบฉับพลัน แต่จะเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ตรงพื้นที่บริเวณใต้น้ำก่อนเกิดแผ่นดินไหวจริงหลายเดือน อย่างเช่น พื้นดินใต้น้ำเกิดรอยแยก แผ่นเปลือกโลกเกิดการเคลื่อนตัว ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่กลิ่นแปลกๆ ที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากความผิดปกติของแผ่นเปลือกโลกแถวคาบสมุทรมิอุระ

ศาสตราจารย์พิเศษทาคาฮาชิยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า มีความผิดปกติมากมายที่เกิดขึ้นตรงบริเวณทางตอนใต้รอบๆ คาบสมุทรโบโซ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับคาบสมุทรมิอุระและอ่าวโตเกียว โดยตรงปากอ่าวโตเกียวจะมี "แอ่งซากามิ" ที่ยึดติดตามแรงเสียดทานที่แผ่นทะเลฟิลิปปินส์มุดอยู่ใต้แผ่นอเมริกาเหนือ เมื่อแรงกดดันจากแผ่นทะเลฟิลิปปินส์มีมากขึ้น ก็จะมีการเคลื่อนตัวและส่งผลให้เกิดหินถล่ม จึงมีความเป็นไปได้ที่อาจจะเป็นสาเหตุของกลิ่นแปลกประหลาดในครั้งนี้

ความเป็นไปได้ที่จะเกิด "แผ่นดินไหวซุปเปอร์นันไค"

ในช่วง 1-2 เดือนมานี้ได้เกิดแผ่นดินไหวตามที่ต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ดังนี้

- วันที่ 20-22 พฤษภาคม 2020 เกิดแผ่นดินไหวโดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่อ่าวโตเกียว 7 ครั้ง
- วันที่ 22 เมษายน - 13 พฤษภาคม 2020 เกิดแผ่นดินไหวโดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดนากาโนะและจังหวัดกิฟุ 88 ครั้ง

รวมไปถึงการเกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงมากกว่าระดับ 4 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ทั้งบริเวณน่านน้ำในจังหวัดฟุคุชิมะและจังหวัดอิบารากิ บริเวณทางตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดจิบะ และบริเวณช่องแคบคิอิทางฝั่งเกาะชิโกกุ

 



และเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2020 ที่ผ่านมาก็ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.2 แมกนิจูด โดยมีศูนย์กลางอยู่ตรงบริเวณทางตอนใต้ของจังหวัดจิบะ โดยจากสถิติของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นระบุว่า จำนวนการเกิดแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั่วประเทศญี่ปุ่นในรอบเดือนล่าสุด (14 พฤษภาคม - 14 มิถุนายน 2020) อยู่ที่ 211 ครั้ง ในขณะที่จำนวนการเกิดแผ่นดินไหวในช่วงระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2020 อยู่ที่ 219 ครั้ง ซึ่งถือว่าจำนวนครั้งเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งในช่วงนี้ตั้งแต่ช่วงบริเวณจังหวัดอิบารากิจนถึงฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่นคาดว่าน่าจะเกิดจากอิทธิพลของแผ่นทะเลฟิลิปปินส์ และยิ่งมีเหตุการณ์ที่ได้กลิ่นเหม็นประหลาดตรงคาบสมุทรมิอุระก็ยิ่งทำให้ต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าของการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ก็เป็นได้

ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้คาดการณ์ว่า แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ “เมกะทรัสต์นันไค” จะมีโอกาสเกิดขึ้น 70-80% ภายในระยะเวลา 30 ปีต่อจากนี้ และจะมีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 320,000-330,000 ราย

ซึ่งทางด้านศาสตราจารย์พิเศษทาคาฮาชิได้คาดการณ์เพิ่มเติมว่า แผ่นดินไหวที่เกิดจากแผ่นทะเลฟิลิปปินส์เองก็อาจจะกระทบกระเทือนถึงกันทั้งหมด ไม่เพียงเฉพาะตรงบริเวณแอ่งนันไคที่อยู่ทางตะวันตกของญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแอ่งซากามิและแอ่งโอกินาว่าด้วย จนมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ "แผ่นดินไหวซุปเปอร์นันไค" และหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนี้จริง ผู้เสียชีวิตก็อาจจะเพิ่มสูงมากถึง 470,000 ราย โดยคำนวณจากข้อมูลแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางตะวันออกของญี่ปุ่นเมื่อปี 2011

ถึงแม้ว่าสิ่งที่กล่าวมานี้จะยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่ทางศาสตราจารย์พิเศษทาคาฮาชิก็จะยังคงทำการวิเคราะห์การสั่นสะเทือนในแต่ละภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และจะคอยระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้น

เพราะภัยพิบัติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอาจจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้

ที่มา news-postseven
ภาพประกอบ FNN, kobe-np, weathernews.jp