"วัฒนธรรมการแยกขยะ และ ปฏิทินวันทิ้งขยะ" ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของมือใหม่ใช้ชีวิตในญี่ปุ่น

"วัฒนธรรมการแยกขยะ และ ปฏิทินวันทิ้งขยะ" ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของมือใหม่ใช้ชีวิตในญี่ปุ่น


หลังจากที่ได้รับวีซ่าทำงาน/วีซ่าเรียนเพื่อมาใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นแล้ว แน่นอนว่าก็จะมีหลายสิ่งหลายอย่างเลยที่เราจะต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมของญี่ปุ่น และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ไม่แตกต่างจากคนญี่ปุ่นที่อยู่ข้างห้อง
จากประสบการณ์ที่ได้ไปเรียนภาษาที่ญี่ปุ่นเป็นเวลา 2 ปี สิ่งๆนึงที่คนมาอยู่ญี่ปุ่นใหม่ๆจะต้องทำความเข้าใจและปรับตัวกันอย่างมากก็คือ "การทิ้งขยะในครัวเรือน" เพราะที่ไทย เราสามารถรวมขยะที่ใช้แล้วเข้าถุง และเดินถือออกจากบ้านเพื่อนำไปทิ้งที่ถังขยะใกล้บ้านได้ทุกเมื่อ

แต่สำหรับญี่ปุ่นนั้น มีรายละเอียดปลีกย่อยกว่านั้นเยอะมากๆ และถ้าหากเราไม่ปฏิบัติตาม ก็อาจจะถูกปรับจากเจ้าหน้าที่เก็บขยะได้ (ดีไม่ดีอาจจะถูกจับเข้าคุกเพราะขยะถุงเดียวด้วยนะ)



- เรื่องแรกของการทิ้งขยะในญี่ปุ่นก็คือ "แยกขยะก่อนทิ้งเสมอ"

เราไม่สามารถรวมขยะทุกประเภทไว้ในถุงเดียวแล้วทิ้งได้ เราจะต้องทำการแยกขยะตามประเภทที่ญี่ปุ่นกำหนดไว้ ได้แก่
1) ขยะสด ขยะที่สามารถย่อยสลายได้ และ ขยะที่สามารถนำไปเผาได้ เช่น เศษอาหารเหลือ วัตถุดิบในการทำอาหาร สินค้าที่ทำจากกระดาษ กระเป๋า เข็มขัด ถุงพลาสติค เสื้อผ้า ซีดี ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากยาง เป็นต้น
2) ขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ และ ไม่สามารถเผาได้ (เผาได้แหละแต่ไม่ดีต่อโลก) เช่น แก้ว อลูมิเนียมฟอยล์ เซรามิค อุปกรณ์ที่ทำจากเหล็ก หม้อ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กกว่า 30 เซนติเมตร ร่ม เป็นต้น
3) ขยะรีไซเคิล หรือ ขยะที่มีส่วนประกอบที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ขวดน้ำ ขวดพลาสติค กระป๋องน้ำอัดลม หนังสือ กระดาษ โบรชัวร์ กล่องพัสดุเปล่าๆ เป็นต้น



- เรื่องที่สองก็คือ "วันและเวลาในแต่ละสัปดาห์ที่สามารถทิ้งขยะแต่ละประเภทได้"

โดยขยะสดจะมีกำหนดวันในการทิ้ง 3 วันต่อสัปดาห์ / ขยะรีไซเคิล 1 วันต่อสัปดาห์ / ขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ 2 วันต่อเดือน
อย่างเช่นตามภาพ อนุญาตให้ทิ้งขยะสด และ ขยะย่อยสลายได้ทุกวันจันทร์ วันพุธ และ วันศุกร์
อนุญาตให้ทิ้งขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ ในวันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 2 และ 4 ของเดือน
และอนุญาตให้ทิ้งขยะรีไซเคิล ทุกวันเสาร์ เท่านั้น

เราสามารถขอเอกสารและปฏิทินในการทิ้งขยะได้จากที่ว่าการเขตที่เราไปทำเรื่องย้ายเข้านั่นแหละครับ และเพื่อความชัวร์ สำหรับคนที่ย้ายเข้าหอพักหรือที่พัก สามารถสอบถามโดยตรงจากผู้ดูแลหอได้เช่นกัน (จากภาพด้านบนนี้ ก็ไปขอมาจากที่ว่าการเขตครับ)



ญี่ปุ่นแยกขยะยังไง

- เรื่องที่สามก็คือ "เงื่อนไขต่างๆในการวางขยะที่ต้องการจะทิ้ง"

เนื่องจากว่าในแต่ละวัน รถที่มาเก็บขยะจะมาค่อนข้างตรงเวลาประมาณ 8 - 9 โมงเช้า (จำได้ว่าลงมาจะทิ้งขยะตอน 10 โมง รถเก็บขยะมาเก็บไปแล้ว อดทิ้ง ต้องรอไปอีก 2 วันถึงจะเอามาทิ้งใหม่ได้ = =')
ดังนั้นแต่ละเขตจึงแนะนำให้แต่ละบ้านนำขยะที่จะทิ้งมาวางไว้ในถังขยะ หรือ บริเวณที่จัดเตรียมไว้สำหรับทิ้งขยะ ไม่เกิน 8 โมงเช้า

นอกจากนี้การเตรียมภาชนะในการใส่ขยะแต่ละประเภทก็ไม่เหมือนกันอีก ถ้าเป็นขยะสด หรือ ขยะที่สามารถเผาได้ อันนี้สามารถใส่ในถุงพลาสติคหรือถุงช๊อปปิ้งแล้วมัดมาวางไว้ได้เลย แต่จะมีข้อยกเว้นคือ กล่องนมหรือกล่องน้ำผลไม้ที่ทำจากกระดาษ นอกจากจะต้องเทน้ำออกให้หมดแล้ว จะต้องล้างทำความสะอาด และตัดกล่องพร้อมผึ่งให้แห้งก่อนนำลงถุงเพื่อประหยัดพื้นที่และลดการเกิดกลิ่นเหม็นอับชื้น
แต่ถ้าเป็นขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ เช่น ขวดน้ำ จะต้องเทน้ำออกให้หมดก่อน นำฝาขวดรวมทั้งฉลากข้างขวดออก (เพราะฝาขวดและฉลากข้างขวด เป็นขยะที่สามารถย่อยสลายได้) ถ้าเป็นนิตยสาร โดยเฉพาะถ้าต้องการทิ้งจำนวนหลายเล่ม จะต้องมีการมัดด้วยเชือกให้เรียบร้อย
นอกจากนั้นจะต้องมีกล่องสำหรับวางขวด และ กระป๋องให้เรียบร้อย (ส่วนใหญ่จะเป็นสีน้ำเงิน และ สีเหลือง)

หากเป็นขยะขนาดใหญ่ ก็จะต้องเรียกเจ้าหน้าที่มารับไป โดยมีค่าบริการในการเรียกรถเก็บขยะ และค่าธรรมเนียมในการทิ้งขยะอีกด้วย
อาทิ จักรยาน เครื่องทำความร้อน โต๊ะโคะทัทสึ จะมีค่าบริการในการทิ้งประมาณ 300 เยน เตียงนอนและฟูกที่นอน ค่าบริการประมาณ 500-600 เยน

สำหรับ อุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่าง ทีวี ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ฮีทเตอร์ โน้ตบุ๊ค คอมพิวเตอร์ ก็จะต้องเรียกเจ้าหน้าที่เก็บขยะพิเศษ หรือ เจ้าหน้าที่เก็บสินค้าไม่ใช้แล้วจากบริษัทผู้ผลิตมารับไป
ซึ่งการเสียค่าใช้จ่ายในการเรียกรถขยะมารับแต่ละครั้ง ทำให้คนญี่ปุ่นเลือกที่จะนำของที่ต้องการทิ้งแต่ยังพอใช้ได้อยู่ไปขายที่ร้านมือสอง หรือ ตั้งวางไว้หน้าบ้านของตัวเอง รอคนที่อยากได้มารับไป

ส่วนขยะพิเศษก็จะมีเงื่อนไขแตกต่างจากปกติไปอีก เช่น ซากสัตว์ที่ตายแล้ว หากเป็นสัตว์เลี้ยงของเรา จะต้องแจ้งการตายของสัตว์เลี้ยงให้ที่ทำการเขตทราบ และจะมีเจ้าหน้าที่มารับซากสัตว์ไปทำลายต่อไป







เราจะเห็นได้ว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีระเบียบสูงมาก และมีวัฒนธรรมในการดำเนินชีวิตที่เคร่งครัด ดังนั้นหากเราจะเข้าไปใช้ชีวิตในดินแดนของเค้า เราก็ควรจะต้องเรียนรู้และให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เค้าวางไว้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต รวมทั้งเป็นการสร้างความประทับใจและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับเจ้าของหอพักและเพื่อนบ้านที่เราไปอยู่อาศัย เผื่อว่าในอนาคตจะมีรุ่นน้อง หรือ คนไทยคนอื่นๆไปพักต่อจากเรา ก็จะได้รับการต้อนรับที่ดี ไม่ถูกมองตาขวางจากคนญี่ปุ่นแถวนั้นนะครับ :)