ทุกๆ ปีในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ญี่ปุ่นกำลังจะหมดไป เหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังของญี่ปุ่นก็จัดงานเทศกาลกันอย่างแข็งขัน (ก็เล่นจัดติดกันเกือบทุกสัปดาห์เลยล่ะฮะ) ช่วงเดือน พฤศจิกายนของเมื่อปีที่แล้ว ผมได้ไปเที่ยวงานเทศกาลมหาวิทยาลัยเอกชนที่ดัง ๆ ของญี่ปุ่นประจำปี 2015 มา 3 งานเลย ได้แก่ Meiji University, Waseda University และ Keio University ก็เลยอยากมาเล่าบรรยากาศโดยรวมของทั้งสามงานให้ฟังกัน
ชื่องาน ครั้งที่จัด และวันที่
สำหรับ Meiji University ที่มีมาสคอตเป็นนกฮูกสุดแบ๊ว ใช้ชื่องานว่า 明大祭 (เมไดไซ, งานเทศกาลมหาวิทยาลัยเมจิ) ไม่ใช่งานนมเมจินะ สำหรับเมไดไซ ครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 131 แล้วฮะ งานนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 2 พฤศจิกายน
Waseda University ก็จัดชื่องานเป็นชื่อมหาวิทยาลัยตัวเองไปเลยว่า 早稲田祭 (วะเซะดะไซ) 7-8 พฤศจิกายน แต่ไม่ได้บอกครั้งที่ไว้ครับ
ส่วนพี่ใหญ่สุด Keio University จะพิเศษหน่อย ใช้ชื่อว่า 三田祭 (มิตะไซ, งานเทศกาลมิตะ) ที่ใช้ชื่อว่ามิตะไซ ก็น่าจะเพราะว่า มหาวิทยาลัยเคโอเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่เก่าแก่ที่สุด (ก่อตั้ง ค.ศ. 1858) แล้วมีแคมปัส (วิทยาเขต) มากถึง 11 แคมปัส ส่วนงานนั้นจะจัดที่แคมปัส มิตะ ก็เลยตั้งชื่อว่า มิตะไซครับ ครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่ 57 ครับ ที่จำนวนครั้งน้อยเพราะว่า อย่างที่บอกมหาวิทยาลัยนี้มีหลายแคมปัส ก็เลยมีงานหลายที่ด้วย งานปีนี้มีไปเมื่อวันที่ 20 -20 พฤศจิกายน
สูจิบัตร
สูจิบัตรก็สมกับเป็นประเทศญี่ปุ่นมาก ชอบแจกโบรชัวร์สวย ๆ สูจิบัตรก็เช่นกัน (ยกเว้นของมิตะไซนะ ไม่แจก ให้ซื้อ.. 100 เยน)
สูจิบัตร (Pamphlet) ของทั้งสามงานครับ
สูจิบัตรของทั้งสามงาน ถ้าเทียบความสวยงามที่หน้าปก วะเซะดะไซจะชนะขาดครับ (เล่มกลาง) เพราะปกมีลายลูกเล่น เป็นคล้าย ๆ เนื้อกระดาษทรายแบบละเอียด ๆ จับแล้วรู้สึกถึงความเวอ่ร์ แต่ถ้าเทียบความงามภายใน มิตะไซชนะเลิศครับ (เล่มซ้ายสุด) เพราะพี่แกเล่นพิมพ์สี่สีเกือบทั้งเล่ม (ยกเว้นหน้าสปอนเซอร์)
บรรยากาศในงาน
การตกแต่งในตึกของเมไดไซ
บรรยากาศนี่แทบจะเรียกว่าคล้าย ๆ กันมาก อารมณ์งานคล้าย ๆ งานเกษตรของมหาวิทยาลัยเกษตร หรืองานจุฬาฯ วิชาการที่บ้านเรา ทุกอย่างภายในงานถูกจัดโดยนักศึกษาทั้งหมดเลย ส่วนสิ่งที่มีในงานก็ได้แก่
ห้องชมรมต่าง ๆ แบ่งเป็นห้องจัดแสดงผลงาน กับคอนเสิร์ต
ชมรมที่ญี่ปุ่นที่หลากหลายมาก มีทั้งชมรมท่องเที่ยว แฟชั่น ออกแบบ หรือพวกชมรมเกี่ยวกับการ์ตูน นั่งวาดรูปขาย ชมรมเล่าเรื่องตลกแบบญี่ปุ่นที่ผมฟังไม่รู้เรื่อง หรือไม่ก็รับจ้างวาดรูปล้อเลียนกันสด ๆ ในห้องต่าง ๆ เลย น่าสนใจมากครับ คือเค้าไม่ได้เน้นความเป็นวิชาการของชมรม แต่เน้นให้นักศึกษาได้มีโอกาสลองเปิดร้าน ลองทำงานในชมรมจากสิ่งที่ตัวเองรักตัวเองชอบ หรือแม้แต่โชว์ของสะสมครับ
ส่วนห้องคอนเสิร์ตก็จะมีทั้งคอนเสิร์คเปียโนแบบคลาสสิค หรือดนตรีป็อปที่คนญี่ปุ่นเค้าชอบฟังกัน ถ้าเป็นคอนเสิร์ตเปียโนแบบคลาสสิคก็จะเข้มงวดเรื่องเวลาเข้าออกมากเพื่อไม่ให้รบกวนสมาธิผู้แสดง ส่วนคอนเสิร์ตเจ-ป็อป ก็มันส์ให้เต็มที่ ร้องเพลง เต้น กระโดดกันในห้องเรียนมืด ๆ ที่เอาโต๊ะออกหมดนั่นแหละ น่าเสียดายที่กล้องผมคุณภาพไม่สูงพอ เลยถ่ายมาไม่ชัดเลยฮะ
ห้องชมรมวิจัยรถไฟ ในเมไดไซ มีโมเดลรถไฟมากมาย ที่เห็นนี่รวม ๆ กัน
ห้องชมรมวิจัยโปเกมอน ในวะเซะดะไซ มีกิจกรรมให้ระบายสี และตอบปัญหาแฟนพันธุ์แท้โปเกม่อน อันนี้ผมระบายสีเอง แต่คำถามนี้เดาเอา ตอบถูกครึ่งเดียวเอง อดรางวัลเลย
การแสดงชามิเซน (เครื่องดนตรีญี่ปุ่น) ที่หน้าโรงละครในวะเซะดะไซ
เวทีการแสดง
ในทุก ๆ งานจะมีเวทีการแสดงด้วย แล้วก็จะมีรายชื่อการแสดงเขียนไว้ทั้งหมดในสูจิบัตร ส่วนใหญ่จะมีเวทีใหญ่อันหนึ่ง แล้วก็เวทีเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกหลาย ๆ ที่ครับ
เวทีคอนเสิร์ตใหญ่ของมิตะไซ มีจอความละเอียดสูงมาก เห็นทุกอณูขนของคนแสดงบนเวที ที่เห็นนี่พวกเขากำลังเต้น Cover ของวง Morning Musume ครับ
การออกร้านของนักศึกษาเองทั้งหมด
แหม่ มางานเทศกาลทั้งที ไม่มีของกินให้ก็เดินกันเหนื่อยแย่เลยครับ เท่าที่ผมเห็นในทั้งสามงาน ซุ้มทั้งหมดจะถูกจัดโดยชมรมต่าง ๆ กันเองทั้งหมดครับ ไม่มีซุ้มจากภายนอกเลย อย่างมากก็สหกรณ์มาขายของที่ระลึกของมหาวิทยาลัย อาหารในงานส่วนใหญ่จึง.. เรียกว่า พอกินได้แล้วกันนะครับ ส่วนราคาก็เริ่มต้นประมาณ 200 เยนขึ้นไป เทียบกับปริมาณแล้วก็แพงใช้ได้ เอาเป็นว่า ถ้าอยากกินอาหารตา จ้องมองเด็ก ๆ ทำมาหากินกันก็ซื้อเอาแล้วกัน เอ้ย ก็ช่วยน้อง ๆ เค้าให้มีเงินทำกิจกรรมกันต่อไปแล้วกันครับ
ในงานเมไดไซ ซุ้มนี้กล้ามาก ร้านชื่อ ผัดไทยแลนด์ นี่จะกินทั้งประเทศเลยหรอ?? ขายอาหาร(เหมือนจะ)ไทย มีเมนูพิสดารด้วย ไม่เชื่อลองอ่านป้ายสองอันทางขวาดูสิฮะ
ซุ้มแยกขยะ
ที่ญี่ปุ่นเค้าขึ้นชื่อเรื่องการแยกขยะอยู่แล้ว ปกติคนก็ไม่ค่อยทิ้งขยะเพ่นพ่าน แต่ถึงมีงานเทศกาล ก็ยังมีการแยกขยะอย่างละเอียด และแต่ซุ้มก็จะมีนักศึกษาประจำอยู่ คอยดูว่า พวกเราทิ้งขยะถูกประเภท ถูกวิธีหรือเปล่า ถังขยะเต็มแล้วต้องเปลี่ยนหรือยัง ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่ดีมากครับ เพราะว่านอกจากพื้นที่จะสะอาดเพราะขยะไม่มีทางล้นแล้ว ยังแยกขยะเสร็จหลังเสร็จงานทันทีเลย ถ้าที่ไหนจัดงาน ก็ลองเพิ่มเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างนี้ให้งานน่าเดินมากขึ้นดูนะครับ
ซุ้มขยะในมิตะไซ ไล่จากซ้าย ไปขวา เผาได้, เผาได้, ตะเกียบไม้ไผ่, เผาไม่ได้, กระดาษนิตยสาร, กระป๋อง, ขวดแก้ว, ขวดน้ำพลาสติกสมชื่อ ECOSTATION มาก
ซุ้มขยะในมิตะไซ ยิ่งบริเวณขายอาหารก็ต้องมีซุ้มแยกขยะนะ
การประกวดหนุ่มหล่อ/บึก สาวงาม
ปกติบ้านเราเวลาประกวดดาวเดือน ก็ประกวดกันเฉพาะในมหาวิทยาลัย แล้วค่อยส่งออกสื่อกันใช่ไหมฮะ แต่ที่นี่เค้าเอาทุกอย่างมาใส่ไว้ในงานเทศกาลหมดเลย แต่ละมหาวิทยาลัยก็มีการประกวดทีเด็ดต่างกันเลย เรียกว่าไม่มีใครยอมใครเลย
มหาวิทยาลัยเมจิ จะมี เมไดเกิร์ล (明大ガール) เป็นกลุ่มสาวงามประจำมหาวิทยาลัย ไม่คอนเฟิร์มว่าเป็นการประกวดหรือเปล่านะครับ แต่ก็มีทวิตเตอร์อยู่ ลองเข้าไปดูกันได้ที่ https://twitter.com/meiji_123
มหาวิทยาลัยวะเซะดะ มีทั้งสองอย่างเลย สำหรับฝั่งสาวงามจะเรียกว่า Waseda Collection ซึ่งเป็นชื่อชมรมแมวมองหาสาวงามในมหาวิทยาลัย แล้วเชิญมาเดินแบบ ไม่ได้เป็นการประกวดแต่อย่างใด ส่วนหนุ่มหล่อวะเซะดะเค้าไม่ค่อยสนใจ เพราะเค้าประกวดหนุ่มบึกแทน เรียกว่า Mister Waseda ครับ
Fashion show ชุดออกแบบโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยวะเซะดะ โดยเหล่านางแบบ Waseda Collection
Mister Waseda Body Building Contest มาตอนมอบรางวัลซะแล้ว หุ่นแต่ละคนนี่ เห็นแล้วอายมาก ใครเห็นแล้วน้ำลายย้อย อย่าลืมหยิบทิชชูมาเช็ดด่วนฮะ
สำหรับพี่ใหญ่อย่างมหาวิทยาลัยเคโอ ในงานมิตะไซ มีหรือจะน้อยหน้าแทบมาแรงที่สุดด้วย Mr. Keio เป็นมหาวิทยาลัยที่ทำการประกวดได้เป็นเรื่องเป็นราวได้สุดยอดมาก ตั้งแต่ทำเว็บไซต์http://mrkeio.jp แจกโบรชัวร์ตามย่านที่คนเยอะ ๆ รวมถึงงานเทศกาลมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ด้วย พอถึงช่วงงานเทศกาลก็มาทักทายแฟนคลับด้วย การประกวด Mr. Keio ถือเป็นสีสันอย่างหนึ่งที่คนที่มางานมิตะไซตั้งตาคอยเลยล่ะครับ
เหล่าผู้เข้าประกวด Mr. Keio ออกมาทักทายแฟนคลับที่หน้ามหาวิทยาลัย สาว ๆ ต่อแถวรอถ่ายรูปด้วยเพียบเลย
ทั้งหมดนี้ก็เป็นภาพรวมแบบคร่าวสุด ๆ ที่ทำได้แล้วครับ เพราะแต่ละงานนี่ใหญ่มาก เดินหมดไม่ทัน คนก็เยอะมาก ๆ รูปก็ถ่ายมาเยอะมากเลย (แต่หลายรูปก็ไม่ชัด ขออภัยด้วยครับ) หวังว่าจะได้เห็นภาพจริง นอกจากที่ดูกันในการ์ตูนเวลามีงานเทศกาลไรงี้ งานเทศกาลมหาวิทยาลัยของแต่ละที่เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกทำงานอย่างจริงจัง ถ้ามีงานเทศกาลที่ไทย ก็ลองดูแล้วเปรียบเทียบกันดู เผื่อจะได้เป็นไอเดียในการจัดงานให้น่าสนุกยิ่งขึ้นไปอีกนะฮะ
บทความโดย
SanShiro