ประสบการณ์ย้ายบ้านในญี่ปุ่นอันแสนวุ่นวาย

ด้วยความที่เกิดอยากย้ายบ้านขึ้นมา ก็เลยลองหาข้อมูลดู แล้วไม่นานหลังจากนั้นก็ย้ายเลย แล้วก็ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงปรับตัวกับบ้าน(ห้อง)หลังใหม่ การย้ายบ้านในประเทศญี่ปุ่นมีเรื่องจุกจิกมากมายรวมถึงระบบแปลก ๆ ที่คนไทย (อย่างผม) ไม่คุ้นเคยเอามาก ๆ วันนี้เลยจะมาเล่าให้ฟังคร่าว ๆ กันครับ ผมขอแยกขั้นตอนหลัก ๆ เป็น 3 ขั้นตอนแล้วกัน ได้แก่ การหาบ้าน การทำสัญญา และการย้ายเข้านะฮะ แต่ละขั้นตอนนี่ทำเอาเงินหมดไปหลายแสน แต่ก็พอมีวิธีประหยัดอยู่บ้าง ก็มาดูกันเลย


1. การหาบ้าน


2014-05-08_00h32_58


ในการหาบ้านก็จะเริ่มจากการคิดลักษณะและเงื่อนไขบ้านที่อยากอยู่ซะก่อน ว่าอยากได้บ้านแบบไหน เช่น ขนาดใหญ่เท่าไร ค่าเช่าต่อเดือนเท่าไร อยู่ใกล้ที่ทำงานหรือสถานีหรือเปล่า ห้องน้ำเป็นแบบไหน มีระเบียงไม่มีระเบียง เยอะแยะไปหมด ซึ่งทั้งหมดสามารถหาได้จากเว็บไซต์ เช่น http://suumo.jp/ , http://www.homes.co.jp/ เว็บไซต์พวกนี้จะรวมบ้าน พร้อมทั้งมีเงื่อนไขให้เลือกเราก็ใส่ ๆ ลงไปได้เลยว่าจะเอาบริเวณไหน เขตไหน ตอนแรกผมก็จิ้มจากเว็บพวกนี้ ใส่เงื่อนไขว่า เอาราคาไม่เกิน 60,000 เยน ขนาดห้องเท่านี้ ๆ ปรากฏว่า.. บ้านหายหมด.. แปลว่าเขตที่ผมอยู่มันแพงมากเลย ถึงกับไม่มีบ้านขึ้นเว็บให้


พอเราหาจากในเน็ตแล้วบางคนก็มีที่ที่ถูกใจก็กดส่งข้อมูลไปให้ ฟุโด้ซัง (บริษัทนายหน้าขายบ้าน) ทางเว็บเลยก็ได้หรือจะเอาลิงค์บ้านนั้นๆ แล้วเอาไปให้ฟุโด้ซังที่เราอยากจะใช้ก็ได้เพราะจากการสังเกตบ้านที่เอามาขึ้นเว็บจะเป็นพวกที่เป็นลิสต์ค้างมาซักพักแล้วถึงค่อยขึ้นเว็บครับ ที่มันขึ้นเว็บช้าก็คงเพราะคนสามารถเอาบ้านในเว็บไปใช้บริการผ่านฟุโด้ซังอื่นได้แล้วบริษัทที่เอาขึ้นเว็บนั้นก็จะเสียรายได้ค่านายหน้าไปครับเป็นระบบที่ซับซ้อนดีจริงๆ


ทั้งนี้พอเราส่งข้อมูลไปปุ๊บ สิ่งที่จะตามมาคือบริษัทที่เราติดต่อไปก็จะตามรังควานและหลอกหลอนเราตลอดเวลาครับ.. ทั้งโทรมาทั้งเมลล์มาทุกทางตลอดเวลา.. ดังนั้นจึงไม่ค่อยแนะนำให้กดส่งข้อมูลไปนะครับ.. เอาลิงค์หรือปรินท์ไปหาฟุโด้ซังเองดีกว่าเพราะมีเหตุผลอีกอย่างนึงด้วยครับ! นั่นคือมันมีเงื่อนไขลับอยู่ ในเว็บบางทีจะเขียนว่าบ้านนี้สำหรับผู้หญิงเท่านั้นหรือต้องอยู่ 2 คนขึ้นไปสำหรับบ้านใหญ่ๆ แต่ที่ผมเจอคือ.. มีบ้านนึงอยากได้ม๊ากมากอุตส่าห์กดส่งข้อมูลแล้วถ่อไปถึงร้านเค้าเลยปรากฏว่า.. มีเงื่อนไขลับคือเจ้าของบ้านไม่รับคนต่างชาติ.. เศร้าสิครับงานนี้โถอุตส่าห์เป็นแบบที่อยากได้มากๆ แต่ติดเงื่อนไขลับอันนี้ก็เลยต้องหาแบบอื่นต่อไปครับ


แต่ยังไงก็ตามถ้าเรามีความอดทนมากพอแล้วหาไปเรื่อยๆ เราก็จะได้บ้านที่เราอยากได้อย่างแน่นอนฮะ ถ้าให้ดีควรจะยึดเงื่อนไขไว้ให้แน่นๆ ว่าจะเอาแบบนี้ราคาเท่านี้เท่านั้น ต้องหนักแน่นแล้วก็จะเจอบ้านที่อยากได้ครับ


เวลาหาฟุโด้ซังบางคนอาจจะหาจากโปรโมชันของร้านที่คิดค่านายหน้าถูกๆ หรือบางคนไม่สนจำนวนเงิน แต่เอาที่คุยกับฟุโด้ซังแล้วถูกใจมากกว่า ก็แล้วแต่ความสบายใจครับ (เดี๋ยวจะบอกว่าค่านายหน้ามันแพงแค่ไหน) แนะนำว่าถ้าได้ที่ที่คุยแล้วถูกคอและเค้าไม่คะยั้นคะยอ ให้เรารีบๆ ตัดสินใจเอาที่นั่นดีกว่าครับ เพราะจากที่ผมฟังภาษาญี่ปุ่นรู้เรื่องในระดับนึงเวลาไปแล้วทำตาแวววาวนิดนึงก็จะโดนโน้มน้าวอย่างหนักหน่วงมากจนแทบจะบอกว่าเอาตั้งแต่ตอนนั้นเลย แต่สุดท้ายก็กลั้นใจแล้วกลับบ้านไปคิดก่อน


พอไปที่ฟุโด้ซังแล้วเค้าก็จะขอข้อมูลเราไว้ติดต่อ (ไว้โทรจิกอีกนั่นแหละ) แล้วก็จะเอาบ้านแบบที่เราน่าจะเช่าได้มาให้ดูเพิ่ม เราก็ดูลักษณะบ้านกับราคาและความชอบใจว่าคิดว่าจะชอบแบบไหนพอบอกนายหน้าแล้วเขาก็จะพาเราไปดูสถานที่จริงครับ ดูกี่รอบก็ได้ตามใจเลยดูแล้วกลับไปดูอีกก็ได้เผื่อว่าไม่ถูกใจ บางที่อยู่ใกล้ๆ ก็เดินไปด้วยกัน บางทีไกลหน่อยก็นั่งรถของบริษัทไปชิลๆ สบายๆ เราไม่ต้องจ่ายอะไรเลย ไปดูแล้วไม่ถูกใจเค้าก็ไม่ว่าอะไร ดูแล้วเปลี่ยนใจไปใช้บริการเจ้าอื่นก็ได้ครับ (เพราะค่านายหน้ามันแพงจริงๆ นะ..) แต่ข้อดีก็คือเราจะดูกี่บ้านก็ได้ รุ่นพี่คนไทยบอกว่าดูไป 10 กว่าที่กว่าจะเลือก เพื่อนต่างชาติผมบางคนบอกว่าดูไป 30 กว่าที่กว่าจะเลือกได้.. อุตสาหะมากจริงๆ .. พอดูเสร็จแล้วเค้าก็จะพากลับบริษัทแล้วถามว่ามีอันไหนถูกใจไหมถ้าหากเราทำหน้าหรือพูดว่าเอาดีไหมน๊าแล้วล่ะก็ เราก็จะโดนโน้มน้าวอีกรอบนั่นแหละว่าเนี่ยดีอย่างนี้อย่างนู้น แนะนำว่าถ้าดูเสร็จก็บอก “ขอกลับไปคิดก่อนนะ” จะได้ไม่มีอะไรมารบกวนเราเวลาตัดสินใจครับ


พอกลับบ้านไปแล้วแนะนำให้ไปถามคนรู้จักก่อนว่าบ้านลักษณะนี้จะมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง เพราะยิ่งถ้าฟังนายหน้ามาเยอะๆ ล่ะก็ แทบล่ะก็จะมองไม่เห็นข้อเสียอะไรเลยเพราะเค้าจะบอกทางแก้ของทุกอย่างมาให้จนเราคิดว่า "อือมันก็ดีอ่ะเน้อ" แล้วก็ไม่ต้องกลัวว่าบ้านที่เราจะเช่ามันจะโดนคนอื่นเช่าไปก่อน ถ้ามันหายไปก่อนก็ไม่เป็นไรครับถ้ายังมีเวลาก็หาใหม่ได้เรื่อยๆ ดีกว่ารีบตัดสินใจแล้วมานั่งเสียใจภายหลังว่าจริงๆ แล้วไม่ชอบบ้านแบบนี้เอาซะเลย ว่ากันตามตรงแล้วบ้านมันไม่ได้หายไปเร็วขนาดนั้นหรอก แต่พวกนายหน้าจะชอบพูดว่า “เนี่ยช่วงนี้คนหาบ้านกันเยอะมากบางทีพรุ่งนี้มีคนทำสัญญาไปเลยก็มี” ออกแนวเทคนิกการขาย ถามว่ามีไหมมันก็มีจริงๆ นั่นแหละแต่ไม่ได้บ่อยขนาดนั้น อ้อ อีกอย่างนึงคือลองไปเดินดูรอบๆ บริเวณบ้านเราว่าชอบหรือเปล่า มีซุปเปอร์มาเก็ตลดราคาถูกๆ ไหม มีห้างใกล้ๆ หรือเปล่า ปัจจัยพวกนี้จะช่วยให้เราพิจารณาได้ดีขึ้น


2. การทำสัญญา


ถ้าเราตัดสินใจได้จริง ๆ  ว่าจะเอาแล้ว (คิดดี ๆ นะฮะ) ก็กริ๊งกร้างหรือส่งเมลล์ไปบอกฟุโด้ซังว่าจะเอาบ้านนี้ แล้วก็ลองเจรจาขอลดนู่นนี่นั่นดู ค่าแรกเข้าจะได้ถูกลงนะฮะ..


ว่าแล้วก็ขออธิบายเรื่องสัญญาซะก่อน เค้าก็จะปรินท์ใส่กระดาษ A3 หลาย ๆ แผ่นมา แล้วก็จะเอาคนที่มีใบอนุญาตมาอธิบายสัญญาการเช่าบ้านมาพูดให้ฟัง (ถ้าไม่มีใบอนุญาตจะไม่ได้รับอนุญาตให้มาอธิบายสัญญาครับ) ก็จะเล่าว่าห้ามทำอะไรบ้าง ถ้าจะย้ายออกต้องทำอะไรบ้าง ห้ามทำของพัง ถ้าของมันพังเองไม่ต้องเสียค่าซ่อน แต่ถ้าทำพังต้องเสียค่าซ่อม ประมาณ 10 กว่าหน้า A4 ครับย๊าวยาว แนะนำจุดหลัก ๆ ที่ต้องฟังให้ดี ๆ คือ ค่าแรกเข้าว่ามีอะไรบ้าง เป็นตามที่ตกลงหรือเปล่า การบอกเลิกสัญญามีค่าปรับอะไรหรือเปล่า เพราะบางเจ้าเค้ามีค่าปรับการบอกเลิกสัญญาก่อนครบ แต่ส่วนใหญ่จะแค่บอกก่อนย้ายออกล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือนก็โอเคแล้วครับ


มาถึงค่าแรกเข้า ผมไม่เคยย้ายบ้านในไทยมาก่อน เลยไม่มีประสบการณ์จ่ายค่าเช่าเท่าไร แต่จะบอกว่าค่าแรกเข้าที่นี่ (โดยเฉพาะโตเกียว) โหดสยองมาก ๆ ครับ เริ่มจากเวลาทำสัญญา ก็จะมีสมการเป็น


ค่าแรกเข้า = ค่าเช่าเดือนแรก + เงินมัดจำ + เงินขอบคุณเจ้าของบ้าน + ค่านายหน้า


ค่าเช่าเดือนแรกในเขตโตเกียวก็จะแตกต่างไปตามขนาดห้อง ที่ตั้งของห้อง แล้วก็ความพึงพอใจของเจ้าของบ้านครับ.. อย่างห้องแบบ 1R (One room) ก็จะมีราคาตั้งแต่ 3 หมื่น - 8 หมื่นเยน เงินมัดจำเป็นเงินที่เราจะได้คืนเวลาเราย้ายออกครับ แต่อาจจะหักค่าทำความสะอาดออกไป หรือหักค่าความเสียหายที่เราทำกับห้องลงไปครับ เงินขอบคุณเจ้าของบ้าน หรือบางทีก็เรียกว่าค่ากุญแจ อันนี้เป็นสิ่งที่แปลกประหลาดสำหรับชาวต่างชาติอย่างเรา ๆ มาก ก็ไม่เข้าใจเท่าไรนะครับ แต่ถ้าคิดว่าเป็นค่าเปลี่ยนกุญแจ คนอื่นจะได้เข้าห้องเราไม่ได้ก็โอเคครับ ยอมจ่ายก็ได้เพื่อความปลอดภัย ส่วนค่านายหน้าก็คือค่าใช้จ่ายที่นายหน้าจะคิดจากการที่เราไปใช้บริการเขา (ไอนั่งรถฟรีไปดูบ้านนู่นนี่นั่นน่ะ) แล้วก็ค่าทำสัญญาต่าง ๆ (มันเยอะมากกกกก)


เห็นค่าแรกเข้ากับส่วนประกอบมันเป็นสมการน่ารัก ๆ แบบนี้ มันก็น่าจะแค่นิด ๆ หน่อย ๆ พันสองพันเยนล่ะมั้ง คิดแบบนั้นอยู่หรือเปล่าครับ?  จะบอกว่าเงินต่าง ๆ ในสมการนี้ ส่วนใหญ่จะมีค่าเท่ากันหมด คือเท่ากับค่าเช่าบ้านครับ.. นั่นคือ ถ้าคุณพี่เช่าบ้านราคา 60,000 เยน แล้วเจ้าของบ้านคิดมัดจำ 1 เดือน เงินขอบคุณอีก 1 เดือน นายหน้าคิดคุณพี่อีก 1 เดือน คุณพี่ก็จะต้องจ่าย 60,000x4 = 240,000 เยน เท่านั้นเองล่ะครับ... อย่าเพิ่งช็อค บางที่เจ้าของบ้านใจร้าย คิดค่ามัดจำ 2 เดือน ค่าขอบคุณอีก 2 เดือน ก็จ่าย 60,000x5= 300,000 เยนเองคร๊าบบบบ แหม่ ตกใจล่ะสิ ตอนผมจ่ายเงินนี่ เงินในมือนี่สั่นไปหมดเลย.. ทั้งนี้เราก็ไม่อยากจะจ่ายเยอะขนาดนี้ถูกไหมครับ แค่ค่าเช่าบ้านก็ทำกระเป๋าตังแฟบแล้ว ก็ต้องเจรจาครับ..


เวลาเจรจาเนี่ย ถ้าให้ดีเอาเพื่อนคนญี่ปุ่น หรือคนที่พูดญี่ปุ่นคล่อง ๆ ไปช่วยจะช่วยได้มาก เค้าจะได้ช่วยเราคิดด้วยว่าจะทำยังไงบ้าง ที่ผมได้ยินมาก็จะมีตั้งแต่ ไม่จ่ายเงินขอบคุณ บางที่มีค่าประกันก็ขอไม่จ่ายด้วยถ้าเกิดโดนต้องจ่าย (แล้วแต่กรณีไปนะครับ) ไม่ต้องเปลี่ยนกุญแจก็ได้ ยอมอยู่แบบเสี่ยง ๆ ว่ามีคนมาเปิดประตูบ้าน ช่วยลดค่ากุญแจหน่อย หรือแบบโหดสุด ๆ คือ ลดค่าเช่าบ้านให้หน่อย.. อันนี้นายหน้าจะลำบากใจที่สุด ก็มีทั้งเพื่อนคนญี่ปุ่นและเพื่อนชาวต่างชาติที่ทำแบบนี้นะครับ ก็บอกว่า เนี่ยจ่ายมากกว่าเท่านี้ไม่ได้จริง ๆ ช่วยลดเหลือเท่านี้หน่อยได้ไหม (ต้องระบุชัดเจนลงไปเลยนะครับว่าเอาเท่าไหร่ บอกแค่ ช่วยลดหน่อย ๆ มันไม่สตรองพอ) แล้วก็ให้นายหน้าคุยกับเจ้าของบ้านให้เราครับ ยังไงเราก็คุยกับเจ้าของบ้านเองไม่ได้ครับ แต่นายหน้าก็จะเตือนเรามาก่อนเลยว่าเนี่ยถ้าเงื่อนไขนี่ไม่ได้อาจจะต้องหาบ้านใหม่นะ..


ถ้าเราเจรจาสำเร็จก็แฮปปี้ จ่ายค่าแรกเข้าน้อยลง มีเงินไปทำอย่างอื่น (ในขั้นตอนต่อไปมากขึ้น) เรื่องเงินจบไปแล้ว ทีนี้มาต่อเรื่องทำเอกสารครับ (ห๊ะ! ทำสัญญาบ้านยังไม่จบอีกหรอ) ยังฮะ จำได้ว่าไปหาฟุโด้ซังบ่อยม๊ากมากเลย ไปจนเบื่อหน้าแทนเลย ที่ต้องใช้สำหรับการย้ายบ้านก็คือใบรับรองของผู้ค้ำประกันครับ เอาไว้เผื่อในกรณีเรากลับบ้านโดยไม่บอกเจ้าของบ้านแล้วเบี้ยวเงิน คนค้ำประกันจะต้องเป็นคนรับผิดชอบครับ ซึ่งอันนี้ก็จะย้อนกลับไปที่เงื่อนไขการหาบ้านด้วยก็คือ บางเจ้าของเขาจะไม่เอาผู้ค้ำประกันเป็นหน่วยงานที่เราจะใช้ (อันนี้ก็ซวยไปหน่อย) เราก็ต้องไปหาคนรู้จักเป็นคนญี่ปุ่นมา บางเจ้าของไม่เอาอะไรมาก จะเอาเป็นบริษัท หรือคนก็ได้ อย่างของผมคือใช้ประกันของมหาวิทยาลัยก็เลยไม่เป็นอะไรมาก เพราะถูกที่สุดแล้ว (หืมม ต้องจ่ายค่าประกันอีกหรอเนี่ย) ใช่ครับ ของมหาวิทยาลัยผมคิดปีละ 4,000 เยน ก็ถือว่าถูกแล้ว ของเพื่อนผมใช้ของบริษัทข้างนอก ปีละ 10,000 กว่าเยนแหน่ะ พอได้เอกสารจากที่นี่แล้ว เราก็เอาไปยื่นที่ฟุโด้ซังซะ


จบขั้นตอนที่ฟุโด้ซัง ทีนี้เป็นขั้นตอนที่สำนักงานเขตต่อ (มันไม่จบง่าย ๆ เลย) ที่จริงก็คงคล้าย ๆ กับที่ประเทศไทยอ่าครับที่เวลาย้ายบ้านเราก็ต้องไปแจ้งที่สำนักงานเขตของเราว่าจะย้ายออก อย่างของเขตเก่าที่ผมอยู่คือเขต เมกุโระ ผมก็ไปทำเรื่องย้ายออก และยกเลิกประกันสุขภาพของเขตนี้ แล้วเอาใบแจ้งย้ายออกมา เตรียมไปส่งที่เขตใหม่ภายใน 2 สัปดาห์หลังจากวันที่เราย้ายออกจากเขตเก่าครับ แล้วก็เรื่องการเปลี่ยนที่อยู่ เราก็จะต้องไปทำที่ไปรษณีย์ที่ใกล้บ้านเราที่สุดครับ เผื่อว่ามีพัสดุส่งหาที่อยู่เก่าเรา เขาก็จะส่งต่อไปยังที่อยู่ใหม่เราฟรีภายใน 1 ปีเลยครับ จบเรื่องทำสัญญาไว้เท่านี้ก่อน ต่อไปก็ย้ายบ้านครับ


3. การย้ายเข้า


karugamo_truck


แหม่ ทำสัญญาก็เหนื่อยจะแย่แล้วเน้อ แต่มันยังเหนื่อยไม่พอครับ เมื่อกี้ใช้สมองเจรจาไปแล้ว รอบนี้คือการใช้กำลังล้วน ๆ ครับ ถ้าของไม่เยอะก็อาจจะเอาใส่กระเป๋าแล้วขน ๆ ไปสองสามรอบโดยรถไฟก็ได้ใช่ไหมครับ แต่ถ้าของเยอะเนี่ย คงต้องใช้บริการบริษัทย้ายบ้านล่ะครับ เค้าก็มีเป็นแพ็คเพจเลย รถขนาดเท่านี้ๆ กับคนขับรถ 1 คนราคา xx,xxx เยน (ย้ายบ้านมีแต่เสียเงินจริง ๆ..) แต่ที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เค้าทำกันก็คือ ไปเช่ารถตู้คันใหญ่ ๆ มา แล้วก็ลากเพื่อนที่มีพละกำลังดีมา 1 คน แล้วขนของทุกสิ่งขึ้นรถ ขับรถไปที่บ้านใหม่ แล้วก็ขนของทุกสิ่งลงจากรถด้วยกัน ผมก็ทำแบบนี้ครับ ฮ่า ๆๆ ประหยัดที่สุดแล้วนี่นา ค่าเช่ารถทั้งวันแค่ 5-6 พันเยนเอง ถูกกว่าตั้งหลายเท่าแหน่ะ


ถ้าเราวางแผนย้ายบ้านเสร็จแล้ว ทีนี้พอถึงวันย้ายเข้าบ้าน (วันเริ่มสัญญา) เราก็ไปรับกุญแจจากฟุโด้ซังที่เราติดต่อไว้เลย แล้วเข้าบ้านใหม่ได้เลยครับ แต่เราก็มีสิ่งที่ต้องทำก็คือโทรไปเปิดใช้ไฟฟ้า น้ำและแก๊ส ด้วยความที่ภาษาญีปุ่นผมไม่ค่อยแข็งแรง ก็เลยบอกให้พนักงานที่ฟุโด้ซังนั่นแหละโทรให้ แล้วก็อย่าลืมไปทำเรื่องย้ายเข้าในเขตใหม่ด้วยนะครับ


แต่กระนั้น กิจกรรมการเสียเงินยังไม่หมดครับ เพราะผมลืมบอกไปว่าบ้านที่ญี่ปุ่นเนี่ย ไม่มีห้องแบบพร้อมอยู่เหมือนประเทศไทยเท่าไร (บางที่ก็มีให้นะ แต่สัญญาโหดไป) คือไม่มีอะไรเลยนอกจากห้อง ... เพราะตามสัญญาคือต้องคืนสภาพห้องให้เหมือนก่อนย้ายเข้าทุกประการ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำก็คือ การซื้อเฟอร์นิเจอร์ครับ หลัก ๆ ที่เขาซื้อกันก็คือ เตียง โต๊ะ ชั้นวางของ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น และไมโครเวฟครับ ใครจะเพิ่มอะไรก็แล้วแต่กำลังเงินเลยครับ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์กับมีนาคมก็เป็นช่วงที่คนญี่ปุ่นย้ายบ้านกันเยอะมาก ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าหลาย ๆ ที่ก็จัดโปรโมชั่น “ส่งเสริมการใช้ชีวิตใหม่” (新生活応援)ก็จะเอาเครื่องซักผ้า ตู้เย็น กับไมโครเวฟมาจับคู่กันขายในราคาลดลงมาถึงประมาณ 40%


หรือถ้าไม่อยากเสียเงิน ก็หาตามร้านของมือสอง หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่ารีไซเคิลช็อป ครับ หรือถ้าไม่อยากไปรีไซเคิลช็อป ก็มีอีกคือ หาจากเว็บขายของเก่า หรือแจกของในญี่ปุ่น เช่น craiglist, mottainai, หรือจะเป็นแว็บของคนญีปุ่นเอง http://jmty.jp/all/sale-fur นอกจากนี้ก็มีกรุ๊ปของนักเรียนไทยในญี่ปุ่นที่เรานิยมสอยของฟรีกันด้วย เวลาไปเอาก็ได้เจอคนไทยก็สนุกดี แต่ต้องนั่งเฝ้าเฟสทั้งวันเลย.. หรือไม่งั้นก็หน้าด้านนิดนึง ถามเพื่อนคนญี่ปุ่นที่กำลังจะย้ายบ้านเลยว่าไม่เอาไรบ้างก็ขอ ๆๆๆ มาเลยครับ (ผมทำทุกแบบ แทบจะเรียกได้ว่าของในบ้านล้วนแต่ได้ฟรีมา..) ข้อดีก็คือประหยัดครับ แต่ข้อเสียคือของอาจจะเก่านิดนึง ถ้าไม่คิดไรมากก็ดีใจที่ได้ใช้ฟรีแล้วกัน


การย้ายบ้านแต่ละทีมันไม่สนุกก็จริง แต่ถ้าได้บ้านที่เราดีถูกใจ และอยากจะอยู่กับมันก็ดีไปนะครับ ย้ายบ้านแล้วก็ค่อย ๆ ปรับตัว ทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านโดยการไปทักทายตามธรรมเนียมญี่ปุ่นก็ได้ แล้วก็จะได้มีความสุขกับบ้านหลังใหม่กันนะครับ


บทความโดย ซันชิโร่