กล้าตามรอยไหม? 3 สถานีรถไฟที่มีชื่อตรงกับยุครัชสมัยของญี่ปุ่น

ที่ประเทศญี่ปุ่นเอง นอกจากจะมีการใช้ปีคริสต์ศักราชตามแบบสากลแล้ว เขาก็มีการนับปีอีกแบบหนึ่งโดยอิงตามยุครัชสมัยที่องค์จักรพรรดิขึ้นครองราชย์ด้วยค่ะ อย่างที่ใครต่อใครหลายๆ คนที่ได้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นมักจะได้ยินกันอยู่บ่อยๆ เช่น “ปีเฮเซ”, “ปีโชวะ” และ “ปีไทโช” ฯลฯ

ว่าแต่คำว่า “เฮเซ”, “โชวะ” และ “ไทโช” มันคืออะไร? แล้วยุคไหนเกิดก่อน-หลังกันล่ะ?

มาค่ะ แอดจะค่อยๆ อธิบายแถลงไขให้ได้อ่านกันนะ ^^

เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกันก่อนที่จะเริ่มบทความนี้ แอดจะขอให้ข้อมูลเรื่องช่วงเวลาของปีรัชสมัยในญี่ปุ่นทั้ง 3 ยุค ก่อนนะคะ



เริ่มจากยุคแรก นั่นก็คือ “ยุคไทโช” (Taisho Period : 大正時代)
เป็นยุคที่สมเด็จพระจักรพรรดิโยะชิฮิโตะ พระราชโอรสในสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ขึ้นครองราชย์ เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ.1912 (พ.ศ.2455) และสิ้นสุดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ.1926 (พ.ศ.2469) เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิโยะชิฮิโตะสวรรคต จึงได้พระนามตามชื่อรัชสมัยคือ “สมเด็จพระจักรพรรดิไทโช”



ยุคต่อมา ใหม่ขึ้นมาหน่อย ได้แก่ “ยุคโชวะ” (Showa Period : 昭和時代)
เป็นยุคที่สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ พระราชโอรสในสมเด็จพระจักรพรรดิไทโชขึ้นครองราชย์ เริ่มนับมาตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ.1926 (พ.ศ.2469) และสิ้นสุดเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะสวรรคต จึงได้พระนามตามชื่อรัชสมัยคือ “สมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ”



และสุดท้าย นั่นก็คือยุคที่พวกเราอยู่กันในปัจจุบัน ได้แก่ “ยุคเฮเซ” (Heisei Period : 平成時代)
เป็นยุคที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ พระราชโอรสในสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ และเป็นจักรพรรดิญี่ปุ่นองค์ปัจจุบันขึ้นครองราชย์ โดยยุคเฮเซนี้จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) และจะสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ.2019 (พ.ศ.2562) ที่จะถึงนี้

อย่างในปีนี้คือปี ค.ศ.2019 ก็เทียบได้กับปีเฮเซที่ 31
นั่นก็หมายความว่า สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ จักรพรรดิญี่ปุ่นองค์ปัจจุบันได้ขึ้นครองราชย์เป็นปีที่ 31 แล้ว

แต่ขณะเดียวกันในปี ค.ศ.2019 นี้ ก็กำลังจะเป็นปีแรกในรัชสมัยใหม่ของญี่ปุ่นที่ยังไม่มีการประกาศชื่อในตอนนี้ด้วย เนื่องจากสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะจะทรงสละราชสมบัติอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 เมษายนนี้ และเจ้าชายนารุฮิโตะจะเสด็จขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดาต่อไปนั่นเองค่ะ โดยจะมีการประกาศชื่อปีรัชสมัยใหม่ภายในช่วงเดือนเมษายนนี้ และจะเริ่มนับปีรัชสมัยใหม่หลังจากหมดยุคเฮเซตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป

เอาล่ะค่ะ ในเมื่อทุกคนเข้าใจถึงเรื่องปีรัชสมัยของญี่ปุ่นแล้ว เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาเข้าเรื่องราวของบทความนี้กันเลยดีกว่าาา!!

ทุกท่านเองก็ได้ทราบกันอยู่แล้วว่าที่ญี่ปุ่นมี 3 ยุครัชสมัยล่าสุดอย่าง “เฮเซ”, “โชวะ” และ “ไทโช”

แต่ทราบไหมว่ายุครัชสมัยทั้ง 3 นี้ ได้ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อของสถานีรถไฟในญี่ปุ่นด้วยนะ!!

อ๊ะๆๆ ไม่เชื่อล่ะสิ ถ้าไม่เชื่อ วันนี้เราจะขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักสถานีรถไฟทั้ง 3 แห่ง ที่ตั้งชื่อตามปีรัชสมัยของญี่ปุ่นกันเลยดีกว่าจ้าา

1. สถานีเฮเซ (Heisei Station : 平成駅)

ก่อนอื่น ก็ต้องเริ่มจากสถานีที่มีชื่อยุคตรงกับในปัจจุบันที่พวกเราทุกคนอาศัยอยู่กันในตอนนี้กันก่อนนะ กับ “สถานีเฮเซ”



“สถานีเฮเซ” เป็นสถานีรถไฟที่อยู่บนทางรถไฟสาย Hōhi Main Line ของ JR Kyushu ในจังหวัดคุมาโมโต้ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น หากนั่งรถไฟ JR HOHI LINE จากสถานี Kumamoto ไปยังสถานี Heisei จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-4 นาที ค่ะ

สถานีแห่งนี้เป็นสถานีที่อยู่ท่ามกลางย่านที่พักอาศัยของจังหวัดคุมาโมโต้ มีลักษณะเป็นชานชาลา 2 ฝั่ง สามารถข้ามฝั่งได้โดยใช้สะพานลอย และมีอาคารที่ทำการสถานีขนาดเล็กตั้งอยู่บนชานชาลาฝั่งหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นสถานีรถไฟที่มีถนนขนาดใหญ่พาดผ่านคร่อมรางรถไฟด้วย



 



บริเวณโดยรอบสถานีเฮเซจะเป็นย่านที่พักอาศัย โดยทางด้านทิศใต้จะเป็นย่านที่พักอาศัยแบบบ้านเดี่ยว ส่วนทางด้านทิศเหนือก็จะเป็นกลุ่มอาคารที่พักแมนชั่น จึงทำให้มีผู้คนขึ้น-ลงรถไฟที่สถานีนี้เป็นจำนวนมาก แต่ถ้าเดินเท้าออกจากสถานีนี้ไปหน่อยนึง ก็จะได้พบกับอาคารร้านค้าที่ตั้งเรียงรายอยู่ริมถนนด้วย



 



 



ตรงบริเวณมุมหนึ่งใกล้ทางออกของสถานีเฮเซจะมีอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึง “การเปิดทำการของสถานีเฮเซ” ด้วย ซึ่งสถานีนี้ได้เปิดทำการมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1992 หรือในปีเฮเซที่ 4 นั่นเองค่ะ



โดยจากข้อมูลของทาง JR Kyushu ได้ระบุไว้ว่า ที่มาของชื่อสถานีนี้ก็มาจากปีรัชสมัยเฮเซนี่แหละ เพราะหลังจากที่เริ่มเข้าสู่ยุคเฮเซ บริเวณโดยรอบของสถานีนี้ก็ได้มีการพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นย่านที่พักอาศัย จึงทำให้พื้นที่ย่านนี้มีชื่อว่า “เฮเซ” อีกทั้งเนื่องจากสถานีนี้เป็นสถานีที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ในเวลานั้น ทำให้สถานีดังกล่าวมีชื่อว่า “เฮเซ” ตามชื่อพื้นที่ด้วยนั่นเอง



 



แถวบริเวณหน้าสถานีเฮเซ นอกจากตัวป้ายสถานีแล้ว ก็จะได้พบกับป้ายโฆษณาสีเขียวโปรโมท “โชวะแท็กซี่” ตั้งอยู่เคียงข้างกันราวกับมาล้อเลียนป้ายชื่อสถานีด้วยล่ะค่ะ 555 XD

 

2. สถานีโชวะ (Showa Station : 昭和駅)

หลังจากที่ได้พาเที่ยวสถานีเฮเซแล้ว แอดก็พาย้อนเวลามากันอีกเล็กน้อยกับ “สถานีโชวะ”



“สถานีโชวะ” เป็นสถานีรถไฟที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ ตั้งอยู่บนเส้นทางรถไฟสาย Tsurumi Line ของ JR East ในจังหวัดคานากาวะ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงโตเกียว โดยเป็นหนึ่งในสถานีรถไฟที่ตัวรถไฟจะวิ่งเข้ามาทางฝั่งท่าเรือของเมืองคาวาซากิ



การจะเดินทางไปยังสถานีโชวะ หากได้เปลี่ยนขบวนรถไฟมานั่งสาย Tsurumi Line ที่สถานี Tsurumi แล้วได้มองไปที่หน้าต่างรถไฟ ก็จะพบว่าเป็นทางรถไฟที่ให้บรรยากาศของความเป็น “ยุคโชวะ” จริงๆ ค่ะ โดยในระหว่างทางก็จะได้เดินทางผ่านสถานี Kokudo อีกหนึ่งสถานีที่มีบรรยากาศย้อนยุคและยังคงหลงเหลือร่องรอยที่เกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงกลุ่มอาคารโรงงานที่กระจายอยู่ตามสองข้างทางรถไฟเองก็เป็นอาคารในเขตอุตสาหกรรมที่มีมาตั้งแต่สมัยยุคโชวะด้วย



 



เมื่อเดินทางมาถึงที่สถานีโชวะแล้วออกมาจากสถานีก็จะพบกับอาคารโรงงานทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ทำให้ได้บรรยากาศของยุคโชวะขึ้นมาจริงๆ แน่นอนว่าใครหลายๆ คนที่ได้เห็นก็คงจะเข้าใจว่าชื่อสถานีนี้มาจากการที่ตัวสถานีถูกสร้างขึ้นมาในยุคโชวะ แต่รู้ไหมว่าที่จริงแล้วมันไม่ใช่แบบนั้นเลยล่ะค่ะ! เนื่องจากที่มาของชื่อสถานีนี้มาจากชื่อของโรงงาน SHOWA DENKO ที่ตั้งอยู่ในบริเวณนี้นั่นเอง



จริงอยู่ว่าตัวสถานีโชวะแห่งนี้ได้ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ.1931 หรือในปีโชวะที่ 6 แต่แท้จริงแล้วในช่วงสมัยนั้นโรงงานที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าว ณ ขณะนั้นไม่ใช่โรงงานของบริษัท SHOWA DENKO แต่เป็นโรงงานของบริษัท SHOWA HIRYOU ดังนั้นเมื่อตัวสถานีนี้สร้างเสร็จ จึงได้มีการนำชื่อบริษัทมาตั้งเป็นชื่อสถานีเพื่อเอาไว้ขนส่งสินค้าและเอาไว้เดินทางสัญจรเป็นหลักค่ะ ซึ่งนอกจากสถานีโชวะแล้ว สถานีที่อยู่ตามแนวทางรถไฟ Tsurumi Line อีกหลายสถานีเองก็ได้ชื่อสถานีมาจากชื่อโรงงานหรือชื่อเจ้าของที่ดินเช่นกันค่ะ อย่างเช่น สถานี Asano, สถานี Anzen และสถานี Okawa ที่ได้ชื่อมาจากนักธุรกิจ ส่วนสถานี Umi-Shibaura และสถานี Shin-Shibaura ก็ได้ชื่อมาจากบริษัท Shibaura Seisakusho ซึ่งเป็นหนึ่งในชื่อเดิมของบริษัท TOSHIBA ค่ะ

ก็ถือว่าเป็นสถานีรถไฟที่ตั้งอยู่ท่ามกลางย่านเขตโรงงานอุตสาหกรรมที่ให้บรรยากาศของยุคโชวะอย่างแท้จริงเลยนะคะ



แถมกันอีกนิดกับภาพอาคารสถานีโชวะสมัยก่อนที่จะปรับปรุงมาเป็นแบบปัจจุบันจ้าา ดูคลาสสิกย้อนยุคไหมล่าาา ><

3. สถานีไทโช (Taisho Station : 大正駅)

หลังจากไปเที่ยว “สถานีโชวะ” แล้ว ก็ขอพาไปกันต่อที่ “สถานีไทโช” เลยนะคะ



สถานีไทโชตั้งอยู่บนทางรถไฟสาย Osaka Loop Line ของ JR West ในจังหวัดโอซาก้า เป็นสถานีรถไฟเพียงเดียวที่ตั้งอยู่ในเขตไทโช จังหวัดโอซาก้า



 



ที่บริเวณนี้มีร้านอาหารโอกินาว่าอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “Little Okinawa” แต่ที่จริงแล้ว รอบๆ สถานีไทโชแห่งนี้มีร้านอาหารที่มีบรรยากาศเก่าๆ อยู่ตามตรอกซอกซอย จึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นบรรยากาศที่ย้อนยุคเท่าไหร่นัก ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเดินออกจากหน้าสถานีไปไม่ไกลก็จะถึงสถานที่จัดงานขนาดใหญ่อย่าง Kyocera Dome Osaka แล้วค่ะ โดยตรงบริเวณชานชาลาของสถานีไทโชเองก็มีโลโก้ขนาดใหญ่ของทีมเบสบอลประจำท้องถิ่นอย่างทีม Orix Buffaloes ติดอยู่ด้วย



เมื่อเดินจากสถานีไทโชไปยัง Kyocera Dome ระหว่างทางก็จะได้ข้ามสะพานใหญ่



ซึ่งทางด้านทิศตะวันออกของสะพานนี้จะเป็นที่ตั้งของอีกสะพานหนึ่งชื่อว่า “สะพานไทโชบาชิ” สะพานแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ.1915 (ปีไทโชที่ 4) เพื่อเชื่อมต่อระหว่างเขตเมืองกับพื้นที่เขตไทโชที่ในสมัยนั้นมีความเจริญรุ่งเรืองในฐานะพื้นที่เขตอุตสาหกรรมค่ะ



สำหรับที่มาของชื่อสถานีไทโชนั้น แท้จริงแล้วมาจากการที่ตัวที่ตั้งของสถานีตั้งอยู่ในเขตไทโช แต่ในขณะเดียวกัน ชื่อเรียกของเขตไทโชเองก็ถูกตั้งมาจากสะพานไทโชบาชิมาอีกต่อหนึ่งด้วย หลักฐานสำคัญก็คือ ทางญี่ปุ่นได้มีการระบุประวัติความเป็นมาเอาไว้ว่า ชื่อเขตไทโชได้ถือกำเนิดก่อนเมื่อปี ค.ศ.1932 (ปีโชวะที่ 7) ส่วนชื่อสถานีไทโชนั้นได้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับตัวสถานีเมื่อปี ค.ศ.1961 (ปีโชวะที่ 36) จึงถือได้ว่าทั้งชื่อเขตและชื่อสถานีเป็นสิ่งที่ถูกตั้งขึ้นมาหลังจากที่ยุคไทโชผ่านไปแล้ว



แต่อย่างไรก็ตาม บรรยากาศรอบๆ ตัวสถานีไทโชก็ให้บรรยากาศที่ย้อนยุคอยู่ไม่น้อย ซึ่งถ้าเทียบกับบรรยากาศโดยรอบระหว่างสถานีไทโชกับ 2 สถานีก่อนหน้านี้ ก็ถือว่าสถานีไทโชเป็นสถานีที่มีความเจริญมากที่สุดแล้วค่ะ อีกทั้งยังตั้งอยู่ไม่ไกลจากย่านท่องเที่ยวขึ้นชื่อในโอซาก้า อย่างเช่น วัดเท็นโนจิ, ย่านชินเซะไก และย่านโดทงโบริ ด้วย

เพิ่มเติมอีกนิด นอกจากสถานีไทโชของทางรถไฟ JR แล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งสถานีที่มีชื่อว่า “ไทโช” เหมือนกัน แต่เป็นสถานีของทางรถไฟ Osaka Metro ที่เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ปี ค.ศ.1997 (ปีเฮเซที่ 9) ด้วยนะคะ



 



 



เป็นอย่างไรกันบ้างคะ? กับ 3 สถานีที่ได้แนะนำกันไป ขอบอกว่าเป็น 3 สถานีที่มีที่ตั้งห่างกันคนละโยชน์เลยล่ะ! 555 ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นสถานีใหญ่ๆ ท่ามกลางแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง แต่อย่างน้อย การที่ตัวสถานีรถไฟมีชื่อตรงกับปีรัชสมัยของญี่ปุ่น ก็น่าจะช่วยให้เป็นที่จดจำของผู้คนมากยิ่งขึ้นนะ ใครอ่านบทความนี้แล้วอยากลองตามรอยดูบ้างก็ลองจัดกันเลยจ้าา ^^

ปล.เพิ่มเติมอีกนิด น่าจะมีคนสงสัยว่า แล้ว “ยุคเมจิ” ที่เก่าแก่กว่า “ยุคไทโช” ล่ะ มีใครเอาไปตั้งเป็นชื่อ “สถานีเมจิ” บ้างไหม?

ขอตอบเลยว่า…

ไม่มีจ้าา แต่จะมีชื่อสถานีที่ใกล้เคียงอย่าง “สถานีเมจิจิงงูมาเอะ” (Meiji Jingu Mae Station : 明治神宮前駅) ที่อยู่ในย่านฮาราจูกุ ใจกลางกรุงโตเกียว ซึ่งมีที่มาจากชื่อศาลเจ้าเมจินั่นเองจ้าา อิอิ ;D

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
bunshun.jp/
Wikipedia : สถานีเฮเซ
Wikipedia : สถานีโชวะ
Wikipedia : สถานีไทโช
Wikipedia : สมเด็จพระจักรพรรดิไทโช
Wikipedia : สมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ
Wikipedia : สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ