จริงหรือไม่? ที่ “ข้าวราดน้ำชา” เป็นเมนูอาหารไล่แขกที่เจ้าของบ้านคนญี่ปุ่นไม่ปลื้ม?!

ที่มาของบทความที่แอดกำลังจะมาบอกเล่านี้ สืบเนื่องมาจากแอดได้ลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเมนู "ข้าวราดน้ำชา" ของคนญี่ปุ่นมาค่ะ

แต่พอหาไปหามา ก็ได้ไปสะดุดกับประโยคคำถามในกระทู้ของเว็บไซต์แห่งหนึ่งว่า

"เคยได้ยินว่าเมนูข้าวราดน้ำชานี้ใช้ไล่แขกที่ไม่ชอบหน้า จริงหรือเปล่าครับ?"

แอดได้อ่านแล้วก็เกิดความสงสัยใคร่รู้ไม่แพ้คนถามเลย จึงได้ลองไปหาต่อจนไปเจอบทความภาษาญี่ปุ่นบทความหนึ่งที่คิดว่าน่าสนใจและน่าลองเอามาแปลและเผยแพร่ดู

ว่าแล้วเราก็ไปหาคำตอบพร้อมๆ กันดีกว่าจ้าา >w<

จะบอกว่าเรื่องเมนูข้าวราดน้ำชาที่เอาไว้ไล่แขกนั้นก็พอจะมีเค้ามูลอยู่บ้างนะคะ โดยเรื่องนี้มีที่มามาจากในจังหวัดเกียวโต

เมื่อพูดถึงลักษณะนิสัยของคนเกียวโตแล้ว ก็ต้องย่อมมีเรื่องเล่า "บุบุทสึเคะ" (ぶぶ漬け) ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องเล่าที่ใครต่อใครมักจะหยิบมาพูดถึงอยู่เป็นประจำเลยล่ะค่ะ

ใครหลายคนที่ได้ยินคำว่า "บุบุทสึเคะ" (ぶぶ漬け) ก็มักจะสงสัยว่ามันคืออะไรทสึเคะอ่ะ? ของดองอะไรหรอ? ไม่เห็นจะรู้จักเลย...

อ่อ ลืมบอกไป คำว่า "ของดอง" ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า "ทสึเคะโมโนะ" (漬け物) จ้าา เผื่อใครงงนะ ^^"

แต่จะบอกว่า เจ้าคำว่า "บุบุทสึเคะ" ที่คนเกียวโตพูดกันไม่ได้หมายถึงของดองนะ เพราะคำว่า "บุบุ" (ぶぶ) ในภาษาถิ่นเกียวโตเขาหมายถึง "โอจะ" (お茶) หรือ "น้ำชา"

ดังนั้น คำว่า "บุบุทสึเคะ" (ぶぶ漬け) ในที่นี้จึงหมายถึง "โอจะทสึเคะ" (お茶漬け) หรือเมนู "ข้าวราดน้ำชา" นั่นเอง



ที่เกียวโต เมื่อเวลาที่แขกพูดว่า "ได้เวลาที่จะต้องเดินทางกลับแล้วครับ/ค่ะ" ในตอนที่กำลังจะเดินทางกลับบ้าน คนในบ้านก็จะตะโกนถามแขกด้วยสำเนียงแบบคนท้องถิ่นว่า

“บุบุทสึเคะเดะโมะโด้โดะสึ?” (ぶぶ漬けでもどうどす?)
ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ประมาณว่า "จะรับข้าวราดน้ำชาก่อนไหมครับ/คะ?"

เมื่อได้ฟังประโยคแบบนี้ เราก็อาจจะตอบตกลงไปใช่มั้ยคะ? แต่รู้ไหมว่าถ้าหากเป็นบ้านของคนเกียวโตแล้วเราตอบตกลงไป ก็จะถูกคนในบ้านนั้นตราหน้าว่า "หมอนี่หน้าด้านจัง" แล้วบรรยากาศภายในบ้านก็จะแย่ลงไปในทันทีเลยล่ะ

ที่จริงแล้ว เจ้าประโยคที่ว่า "จะรับข้าวราดน้ำชาก่อนไหมครับ/คะ?" มันมีความหมายอ้อมๆ ว่า "กรุณาเดินทางกลับบ้านได้แล้ว" และเมื่อแขกได้ยินประโยคดังกล่าวก็ต้องพูดด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า "ไม่ล่ะครับ/ค่ะ เดี๋ยวก็จะเดินทางกลับแล้ว" ตามมารยาทค่ะ แต่อย่างไรก็ตามประโยคนี้ก็ถูกใช้ด้วยความหมายที่ไม่ค่อยสุภาพเท่าไหร่จริงๆ ล่ะนะ…

"จะรับข้าวราดน้ำชาก่อนไหมครับ/คะ?" ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องเล่ามุกตลก

เรื่องเล่า "ข้าวราดน้ำชา" ในเกียวโตนั้นได้ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าตลกระคุโกะทางแถบบริเวณเกียวโต-โอซาก้า และได้ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าตลกขำขันในช่วงสมัยเอโดะด้วย จึงทำให้เรื่องนี้เป็นที่รู้จักกันดีแม้กระทั่งคนที่อาศัยอยู่นอกเขตเกียวโตและภูมิภาคคันไซ แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ทำให้มีคนส่วนหนึ่งคิดว่าคนเกียวโตเป็นคนที่มีนิสัยชอบประชดประชันซะอย่างงั้น ^^”

ความหมายที่แฝงอยู่ในประโยคที่ว่า "จะรับข้าวราดน้ำชาก่อนไหมครับ/คะ?" ในความเป็นจริงแล้วจะมีการโต้ตอบแบบนี้ในชีวิตประจำวันจริงๆ หรือไม่ เรื่องนั้นเอาไว้ก่อน แต่ในปัจจุบันนี้ดูเหมือนจะไม่มีการโต้ตอบในลักษณะแบบนี้แล้ว อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนจะมีการค้นพบหลักฐานว่าได้มีการพูดสนทนาโต้ตอบแบบนั้นจริงในช่วงสมัยยุคเอโดะ-ยุคเมจิ จึงทำให้เรื่องเล่าดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องเล่ามุกตลกที่ไปหยอกล้อลักษณะนิสัยของคนเกียวโตอย่างแน่นอน

ความหมายของ “ข้าวราดน้ำชา”

แต่ว่าทำไมถึงต้องเป็น "ข้าวราดน้ำชา" กันหนอ... เรื่องนี้ก็คงทำได้เพียงแค่นั่งเดาเท่านั้นค่ะ แต่ถ้าหากพูดถึงการบริการที่ดีที่สุดอย่างการปรุงอาหารแบบเกียวโตด้วยการคัดสรรวัตถุดิบและทำอาหารด้วยความมุมานะ ข้าวราดน้ำชาก็เป็นตัวแทนอาหารที่สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว ดังนั้น การที่หยิบยกเอาข้าวราดน้ำชาขึ้นมาพูดนั้น จึงคาดว่าน่าจะสื่อถึง "การไม่ใส่ใจต่อการบริการ" และทำให้สามารถเชื่อมโยงไปสู่ความหมายว่า "ให้รีบกลับบ้านไปเร็วๆ" นั่นเอง



"จะรับข้าวราดน้ำชาก่อนไหมครับ/คะ?" ที่ถูกทำให้เข้าใจผิด

ประโยคที่ว่า "จะรับข้าวราดน้ำชาก่อนไหมครับ/คะ?" มักจะถูกเข้าใจว่าเป็นคำพูดของคนเกียวโตที่ใช้พูดตอนที่อยากจะบอกกับแขกที่มาเยือนว่า "ใกล้เวลาที่จะต้องกลับบ้านแล้ว" แต่ที่จริงแล้วมันมีสิ่งที่ทำให้เข้าใจผิดกันอยู่อย่างหนึ่งค่ะ

ความหมายที่แท้จริงของ "จะรับข้าวราดน้ำชาก่อนไหมครับ/คะ?" ไม่ได้หมายถึงว่า "ให้กลับบ้านไวๆ" แต่จริงๆ แล้วมันแฝงความหมายเอาไว้ว่า "อยากพูดคุยกับคุณต่ออีกหน่อยจัง" จึงเป็นคำพูดที่แสดงออกถึงความรู้สึกสนิทสนมคุ้นเคยต่ออีกฝ่ายที่ใช้เวลาร่วมกันอย่างสนุกสนาน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นคำพูดเพื่อบอกลาด้วยความรู้สึกที่อยู่ในใจโดยไม่ให้บรรยากาศความเป็นกันเองหายไป และเป็นคำพูดแสดงความเป็นห่วงเพื่อให้แขกเดินางกลับบ้านด้วยความรู้สึกดีๆ นั่นเอง



ความรู้สึกที่แท้จริงของคนเกียวโต

ความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นกับประโยคที่ว่า "จะรับข้าวราดน้ำชาก่อนไหมครับ/คะ?" ทำให้คนเกียวโตถูกมองว่าเป็นคนสองบุคลิกไปเลย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในประโยคนี้ได้ซ่อนความมีเสน่ห์ของคนเกียวโตเอาไว้อยู่นะคะ

โดยปกติแล้วก็มักจะมีเหตุผลที่เลือกจะไม่ทานแม้จะถูกแนะนำให้ทานอาหารประเภท "ข้าวราดน้ำชา" ก็ตาม แต่ที่เกียวโตเขาจะมีสุภาษิตหนึ่งว่า "จะไม่ยกลูกสาวให้ผู้ชายที่ไม่ทานข้าวราดน้ำชา" ดังนั้น หากหนุ่มคนไหนถูกพูดเชิญชวนให้ทานข้าวราดน้ำชาก็อาจจะเกิดอาการลังเลได้ว่าจะทานดีหรือไม่ทานดี แต่นั่นก็เป็นเรื่องของความลึกลับน่าค้นหาของเมืองเก่าที่มีอายุร่วมพันปีแล้ว ไม่ว่ายังไงเกียวโตก็เป็นสถานที่ที่น่าสนใจจริงๆ ค่ะ



และนี่ก็เป็นบทความที่แอดได้เจอมาและเอามาบอกเล่ากันในนี้นะ ใครคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ก็มาแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้จ้าา ^^

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
cyber-world.jp.net