อากิตะใต้สายสโลว์ไลฟ์ ตอนที่ 4 โรง สาเก คิมูระชูโช

ฮัลโหลว~ กึ้ดมอร์นิ่งค่ะทุกคน หลังจากที่เมื่อคืนนอนสบายคลายเส้นกันที่อาคิโนะมิยะ ออนเซนกันไปแล้ว เช้าวันนี้เราก็ลุกแต่เช้าเลยค่ะ เพื่อที่จะไปดูโรงทำ สาเก กัน แต่ก่อนที่จะไปโรงสาเกนั้น ผู้นำทางของเราก็แวะมาที่จุดพักรถโอกาชิกันก่อนค่ะ ให้เราได้เดินเลือกชมของขึ้นชื่อของอากิตะกัน แต่เรื่องของขึ้นชื่นี้เราของนำไปรวมไว้ใน Special entry แนะนำของต้องลองในอากิตะโดยเฉพาะนะคะ เพราะวันนี้เราขอเล่าถึง Kimora shusho กันก่อนค่ะ



เมื่อมาถึงหน้าโรงสาเกเราก็จะเห็น... กองหิมะที่ทับถมป้าย แหม่~ ก็อากิตะหน้าหนาวนะคะ ใครที่เป็นสโนว์เลิฟเวอร์เนี่ยพลาดไม่ได้นะคะ เอาล่ะเรามาเข้าสาระกันดีกว่า จากป้ายจะเห็นว่าเขาได้เขียนประกาศเอาไว้ว่าโรงสาเกนิฮงชูอายุ 400 ปี ในตอนแรกด้วยความหนาวเรารู้สึกก็เฉย ๆ กับอายุของโรงงานที่มีถึง 400 ปีนะคะ แต่พอเดินเข้าไปที่อุ่นแล้วเราจึงเริ่มคิดได้ว่า

เอ๊ะ! นี่มันธุรกิจส่วนตัวใช่มั้ย? โอโห้! อยู่มา 400 ปีเชียวหรอ นี่มันสุดยอดไปเลยนะ ไม่ค่อยเจอกันใช่มั้ยคะ ธุรกิจที่ยาวนานขนาดนี้ ถ้าใครเดาไม่ออกว่านานขนาดไหน ก็ในยุคนั้นประเทศไทยก็ในยุคที่สมเด็จพระนเรศวรเพิ่งจะตีกรุงหงสาวดีได้ไม่นาน รอยต่อก่อนเข้ายุคพระนารายณ์มหาราชค่ะ (นานมาก) ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 อีก

ถังสาเก Kimurashusho

และทุกคนเราอยากให้ทุกคนดูเจ้าลูกกลม ๆ สีเขียว ๆ ลูกนี้ที่ห้อยอยู่เหนือถังเอาไว้นะคะ แล้วเราจะมาเล่าให้ฟังอีกทีว่าลูกเขียว ๆ นี้สำคัญอย่างไร  เอาล่ะสองมือล้วงกระเป๋าสองเท้าก้าวเข้ามา วันนี้เราจะพาไปดูโรงผลิตสาเกขึ้นชื่อที่เราเรียกกันตามอิซากายะว่านิฮงชูกันค่ะ ถ้าใครสนใจว่าที่นี่พิเศษอย่างไรของให้ตามมาค่ะ มันต้องพิเศษอยู่แล้วธุรกิจที่อยู่มา 400 ปี



อากาศภายในโรงสาเกค่อนข้างเย็นค่ะ เขาจะเปิดฮีตเตอร์เฉพาะตรงที่เป็นสำนักงานที่ทำงานเอกสารเท่านั้น ส่วนอื่น ๆ นั้นเขาจำเป็นจะต้องรักษาอุณหภูมิเอาไว้ให้เป็นปกติเพื่อให้เครื่องกลั่นสามารถทำงานได้อย่างปกติตามฤดูกาลค่ะ (แน่นอนว่าในฤดูอื่น ๆ เครื่องจักรก็จะถูกปรับการตั้งค่าไปตามฤดูกาลด้วย) เมื่อเข้ามาถึง เดินผ่านส่วนสำนักงานมาแล้วเราก็จะมาเจอกับเตานี้ค่ะ มันเป็นเหมือนกับส่วนที่ไว้จุดไฟต้มสาเกค่ะ และที่รายล้อมรอบเตาอยู่นั้นก็คือ ‘หัวเชื้อ’ ของนิฮงชูแต่ละสูตรค่ะ สักเกตดี ๆ จะมีชื่อที่แตกต่างกันไปค่ะ 

เราก็จะได้รับการให้ความรู้คร่าว ๆ เกี่ยวกับนิฮงชูกันก่อนค่ะ ที่จริงแล้วหากใครไปญี่ปุ่นและได้ลองลิ้มรสสาเกญี่ปุ่นกันมาบ้างแล้วก็จะมีความเข้าใจในภาพลักษณ์ของนิฮงชูกันโดยคร่าวแล้วใช่มั้ยคะ แต่พอมาถึงที่นี่จะได้ฟังตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจไปจนถึงการประกวดสุราในปัจจุบันเลยค่ะ



และในขั้นตอนแรกสุดของการทำนิฮงชูนั้นก็คงจะหนีไม่พ้นการเลือกวัตถุดิบใช่มั้ยล่ะคะ ที่นี่เขาเลือกตั้งแต่พันธุ์ข้าวก่อนมาทำสาเกเลยนะคะ เพราะว่าข้าวแต่ละพันธุ์เนี่ยจะทำให้ได้สาเกที่แตกต่างกันไปค่ะ อย่างเช่นสาเกที่จะหมักในเดือนสามเพื่อให้ได้สาเกในเดือน 8 จะต้องใช้ข้าวจากเดือน 11 และเป็นพันธุ์เฉพาะเท่านั้น ต้องมีการตากข้าว เลือกเฉพาะข้าวที่มีเมล็ดกลมเท่านั้นเพื่อนำมาทำสาเก หากว่ามีการใช้ข้าวที่ผิดแบบก็จะทำให้รสสาเกเปลี่ยนได้ รวมถึงระยะเวลาการผึ่งข้าวและพลิกข้าว เพื่อนำไปทำหัวเชื้อของนิฮงชูค่ะ เรียกได้ว่าละเอียดมากเลยทีเดียว



แน่นอนว่าโรงสาเกที่มีอายุมายาวนานขนาดนี้ก็ต้องมีการเล่าประวัติและการทำสาเกในยุคก่อนอยู่แล้วค่ะ ที่นี่เองก็ใช้วิธีการนำเสนอด้วยรูปแบบหุ่นจำลองเช่นกันค่ะ และนอกจากตัวหุ่นจำลองที่อธิบายตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ข้าวไปจนถึงการต้มสุราแล้ว ด้านข้างก็ยังมีการจัดแสดงเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำสาเกในแบบโบราณด้วยนะคะ ถึงจะวางไม่เรียงกันนักแต่ก็ทำให้เราได้เห็นอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นอย่างดีเลยค่ะ (ของแท้ที่ใช้งานจริงเลยนะคะ)



แล้วอย่างที่เราเห็นวาทั้งเตาต้มสุราของเก่า (ที่อยู่ด้านหน้าเป็นภาพแรก รวมถึงพวกอุปกรณ์ต่างๆ ที่เราเห็นด้วย) ของพวกนี้ถูกปลดประจำการหมดแล้วใช่มั้ยคะ เพราะฉะนั้นก็คงจะสงสัยใช่มั้ยคะว่าในปัจจุบันนั้นเขาใช้อะไรกัน ตามมาเลยค่ะ



และนี่คือเครื่องมือที่ใช้กันในปัจจุบันค่ะเป็นเครื่องต้มที่ถูกสร้างมาเพื่อให้เก็บอุณหภูมิและรักษาความสะอาดและความดันในการต้ม รวมถึงมีการคัดกรองกากในกรณีที่ยังมีข้าวที่ไม่ละเอียดออกด้วยค่ะ จาก 400 ปีที่เคยต้มในถังไม้ ด้วยคน ต้องคอนให้คนขึ้นไปตักช้อนส่วนเกินออก คุมอุณหภูมิด้วยการเป่าลมเข้าเตาเผา ในรุ่นปัจจุบันเองก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อยเหมือนกันนะคะ



เมื่อต้มเสร็จก็จะเป็นการหมักค่ะ คุณเจ้าหน้าที่ได้เปิดประตูส่วนที่เป็นโรงหมักให้เราดู ที่จริงแล้วอาคารโรงหมักนี้เป็นส่วนต่อเติมเพิ่งสร้างเมื่อ 150 ปีก่อนนี้เองค่ะ (ก็นานแหละเนอะ) นิฮงชูที่อยู่ในนี้เป็นนิฮงชูทีต้มในช่วงเดือน 11 ที่ผ่านมา กำลังหมักเพื่อขายทั้งแบบที่จะออกในเทศกาลช่วงโกลเด้นท์วีค (เดือนห้า) และนิฮงชูที่จะออกขายในงานเทศกาลเดือนแปด และงานฤดูร้อนเดือนสิบค่ะ ที่จริงแล้วห้องนี้ไม่เปิดให้เดินเข้าไปเข้าชมค่ะ  อย่างที่รู้กันร่างกายของมนุษย์นั้นมีเชื้อโรคและจุลลินทรีย์ต่าง ๆ มากมายเกินกว่าจะควบคุมได้ นั่นยังไม่รวมถืงอุณหภมูิจากร่างกายมนุษย์ด้วย เห็นมั้ยคะว่ากว่าจะมาเป็นนิฮงชูขวดหนึ่งนั้นละเอียดอ่อนขนาดไหน



และเมื่อหันไปมองที่คานเหนือเครื่องต้มแล้ว เราก็ได้พบสิ่งนี้ค่ะ ยังจำลูกเขียวข้างหน้าโรงสาเกได้มั้ยคะ มันคือลูกเดียวกันค่ะแต่เป็นลูกที่แห้งแล้ว ในสมัยก่อนยังไม่มีการควบคุมอุณหภูมิหรือนับเวลาการหมักสาเกที่แน่นอนค่ะ และเจ้าลูกนี้ก็คือ timer ของโรงสาเกในยุคนั้นนั่นเอง ลูกนี้ทำจากใบสนมามัดรวมกันค่ะ

เมื่ออุณหภูมิ เวลา ความชื้นสัมพัธท์และทุกอย่างที่อยู่รอบถังหมักเป็นใจ และเมื่อใบสนทั้งพุ่มนั้นแห้งกลายเป็นสีน้ำตาลหมดแล้วนั่นก็เป็นสัญญาณว่าสาเกในถังสามารถใช้การได้แล้วค่ะ จริงอยู่ที่สมัยก่อนไม่มีการควบคุมอุณหภูมิภายในหรือความชื้นที่เหมาะสมเพื่อให้ทราบถึงผลลัพธ์ภายใน แต่ว่าด้วยใบสนนี้ก็จะทำการแห้งไปตามสภาพอากาศ อุณหภูมิและความชื้นเช่นกัน เพราะฉะนั้นก็ต้องถือว่าเจ้าลูกกลม ๆ นี้เองก็เป็น timer ที่เที่ยงตรงไม่น้อยเลยใช่มั้ยล่ะคะ ภูมิปัญญานี่เป็นสิ่งที่สุดยอดจริง ๆ นะคะเนี่ย



และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของใบประกาศรางวัลต่าง ๆ ที่โรงสาเกคิมูระแห่งนี้เคยได้รับมาค่ะ ทั้งขั้นตอนที่ละเอียดอ่อน ใบประกาศต่าง ๆ รวมถึงชื่อที่มีมานานของนิฮงชูก็เริ่มทำให้เราสงสัยในรสชาติของสาเกที่นี่ใช่มั้ยคะ และแน่นอนค่ะ เราได้ชิมนิฮงชูของที่นี่กันด้วย มาถึงที่ทั้งทีไม่ได้ชิมได้ไงเนอะ คุณเจ้าหน้าที่ได้นำนิฮงชู 4 ขวดที่ถือเป็นเดอะเบสท์ออกมาตั้งเรียงรายให้เราได้ชิมกันค่ะ และหลังจากที่ร่างกายอุ่นด้วยนิฮงชูแล้วเราก็ได้เวลาบอกลาเจ้าหน้าที่และโรงผลิตสาเกค่ะ

ในระหว่างทางขึ้นรถไปที่ต่อไปเราก็คิดมาตลอดทางนะคะ ว่าอะไรกันที่ทำให้คิมูระชูโชเป็นแบรนด์ที่เลอค่าขนาดที่ให้เป็นของขวัญในวันปีใหม่กับผู้ใหญ่ได้ คือสำหรับเรามันคือขั้นตอนของน้ำขาวไทยแลนด์เหมือนกันใช่มั้ย แต่ที่ไทยไม่มีใครให้น้ำขาวกันในวันปีใหม่หรือให้เป็นของขวัญกัน และดันมีขวดหนึ่งที่ราคาเหยียบวิสกี้ชั้นดีเลยด้วย เราก็นั่งคิดไปเพลิน ๆ ว่าทั้งขั้นตอนความละเอียดตั้งแต่การเลือกเมล็ดข้าวไปจนถึงการควบคุมอุณหภูมิ ความตั้งใจจริงและจริงจังในการพัฒนาสินค้าอยู่เสมอทำให้แบรนด์คิมูระชูโชไม่น่าแปลกที่จะเป็นแบรนด์ที่น่าจดจำสำหรับคนญี่ปุ่น คือบางคนก็อาจจะบิ๊กแฟนอาซาฮี หรือสุราวิสกี้อื่น ๆ แต่เหล้าญี่ปุ่นที่ยืนหยัดมากว่าสี่ร้อยปีในราคาปัจจุบันที่ถือว่าสูงขนาดนี้... ก็ต้องยอมรับความละเอียดอ่อน ความแข็งแกร่ง และความเป็นหนึ่งขององค์กรเขาจริง ๆ แหละค่ะ

เอาเป็นว่าใครไปญี่ปุ่นมีโอกาสได้เข้าอิซากายะ หรือผ่านร้านสะดวกซื้อ ก็อย่าลืมสั่งมาดื่มได้นะคะ ลองรสชาติที่ไม่แรงมากจนแสบคอกับกลิ่นหอม ๆ ของคิมูระนิฮงชูดูบ้าง และอย่าลืมที่จะค่อย ๆ ละเลียดความละเมียดละไมในทุกขั้นตอนของเขาด้วยนะคะ แล้วเจอกันเอนทรี่ถัดไป สายกีฬาห้ามพลาดค่ะ