10 ร้านราเมงอิมพอร์ตจากญี่ปุ่นย่านทองหล่อ

สวัสดีครับ วันนี้ผมจะมารีวิวร้านราเมงอิมพอร์ตจากญี่ปุ่นย่านทองหล่อ 10 ร้านที่ผมเคยได้ไปลองกินมา ซึ่งแต่ละร้านก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป มาดูกันเลยครับว่าแต่ละร้านมีซิกเนเจอร์ยังไงกันบ้าง

Ramen Wakyu ย่านทองหล่อ

1. Ramen Wakyu ร้านราเมงจากนาโกย่า ทุกอย่างทำเองในร้านหมดไม่ว่าจะเป็นเส้น ซุป หรือชาชู โดยใช้วัตถุดิบนำเข้าจากญี่ปุ่น

はまぐりとトリュフの醤油そば Hamaguri Truffle Shoyu Soba ฿450 เบสซุปจะเป็นหอยตลับ เห็ดหอม สาหร่าย และกระดูกหมู น้ำซุปคนละตัวกันกับโชวยุราเมงปกติ เหยาะน้ำมันทรัฟเฟิลกับเห็ดพอร์ชินี่ ท็อปปิ้งชาชูสไลซ์มีเดียมแรร์ หน่อไม้ ไข่ต้ม ต้นหอมขาว เปลือกมะกอกดำ

เส้นใช้เส้นเล็กเหลี่ยมแบบเดียวกับโชวยุราเมงปกติ ลวกมาพอดี หอมกลิ่นไข่เล็กน้อย หน่อไม้กลิ่นไม่แรง หอมซอสอ่อนๆ ชาชูสไลซ์บางเนื้อเด้งๆ อร่อยมาก ไข่ต้มมาเกือบสุก ที่ชอบคือต้นหอมขาวสไลซ์ทางยาว เท็กซ์เจอร์กรอบขนานไปกับเส้นราเมงที่นุ่ม ทำหน้าที่คล้ายๆ เห็ดหูหนูสไลซ์ในฮากาตะราเมง เคยทานโชวยุราเมงปกติแล้วไม่ค่อยชอบซุปเท่าไหร่เพราะรสดาชิกลบรสโชวยุ แต่ชามนี้รสอูมามิของหอยตลับและน้ำมันทรัฟเฟิลช่วยเพิ่มมิติให้กับรสโชวยุได้ดีมากๆ

ร้านอยู่สุขุมวิท 51 วันธรรมดาเปิด 11.00-24.00 เสาร์-อาทิตย์ มื้อกลางวันเปิด 11.30-15.00 มื้อเย็น 18.00-22.00 ปิดวันจันทร์

Shugetsu Ramen ย่านทองหล่อ

2. Shugetsu Ramen ราเมงจากเมืองมัตสึยาม่า จังหวัดเอฮิเมะ เกาะชิโกกุที่โด่งดังมากในฮ่องกง (สาขา Gough St.) คิวยาวพอๆกับร้าน Kau Kee บะหมี่เนื้อชื่อดังที่อยู่ข้างๆ กัน และสาขานี้รางวัล Bib Gourmand จากมิชลินไกด์บุคปี 2014-2019 ร้านมีทั้งหมด 5 สาขาในญี่ปุ่น 3 สาขาในฮ่องกง 1 สาขในเซี่ยงไฮ้ และล่าสุดมาเปิดสาขาที่กรุงเทพเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

#tsukemen #つけ麺 ฿255++ เลือกปริมาณเส้นได้ตั้งแต่ 100g จนไปถึง 400g ในราคาเดียวกัน และเลือกระดับความสุกของเส้นได้ ในรูปคือขนาด 100g เส้นแข็ง

วัตถุดิบหลักของซุปร้านนี้คือโชวยุจากจังหวัดเอฮิเมะร้านที่มีอายุกว่า 140 ปี โดยหมักในถังไม้แบบดั้งเดิมเป็นเวลา 18 เดือน ผงปลาแห้ง (bonito) จากญี่ปุ่น และน้ำมันจากกังป๋วย (scallop oil) โดยเบสซุปจะเป็นซุปไก่ ซุปรสชาติเข้มข้นมากๆ รสออกออกเปรี้ยวจากปลาแห้งที่ใส่มาเป็นจำนวนมาก กลิ่นหอมโชวยุ น้ำมันลอยหน้าค่อนข้างเยอะ เก็บความร้อนในซุปไว้ได้ดี ร้อนจนหยดสุดท้าย เส้นสดทำเองโดยจะทำ 2 รอบคือ 18.00 และ 20.00 เป็นเส้นแบบหยัก เนื้อเด้งหนึบ ชาชูไม่แน่ใจว่าย่างมาด้วยรึเปล่า กลิ่นหอมมากๆ ไข่หอมน้ำซอสรสหวานนำ

ร้านอยู่ชั้น 2 The 49 Terrace ซอยสุขุมวิท 49 วันธรรมดามื้อกลางวันเปิด 11.00-15.00 มื้อเย็น 17.00-23.00 เสาร์-อาทิตย์เปิด 11.30-23.00

Ramen Riki ย่านทองหล่อ

3. Ramen Riki ร้านราเมงจาก Kokubanji, Tokyo ที่เพิ่งเปิดได้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซุปราเมงของทางร้านจะเป็นทงคทสึแบบโตเกียวที่นำมาผสมกับเครื่องปรุงอื่นๆเช่น มิโสะทวคทสึรสเผ็ด โชวยุทงคทสึ และนิโบชิ(ปลาแห้ง)ทงคทสึ

#煮干しラーメン #niboshiramen ฿330 นิโบชิทงคทสึราเมงเพิ่มไข่กับชาชู น่าจะเป็นเจ้าแรกที่เสิร์ฟนิโบชิราเมงในไทย เพราะซุปปลาแห้งจะออกขมหน่อยคนไทยน่าจะไม่ชอบกัน ลองชิมซุปเปล่าๆ ก่อน รสขมแบบอูมามิจากปลาแห้ง บอดี้บางไม่มันมากซุปเลยเย็นเร็ว ทางร้านเสิร์ฟเลม่อนกับยูสุบดมาให้ผสมกับซุปแก้ขม ผสมลงไปแล้วช่วยเบารสขมของปลาแห้งลงได้ แต่ไม่ทำลายกลิ่นของปลาแห้งไปจนหมด กลิ่นหอมซีตรัสเข้ากันกับรสอูมามิของปลาแห้ง เส้นกลมเรียบ ลวกแข็ง เท็กซ์เจอร์คล้ายๆ ผัดหมี่เจแต่รสไข่น้อยกว่า ชาชูติดเอ็นเคี้ยวหนึบ หอมกลิ่นเตาย่างแต่โดนรสปลาแห้งกลบ หน่อไม้รสไม่จะฝาดมาก หอมพริกโรยข้าว ไข่ต้มเนื้อนิ่มหอมซอส

ร้านอยู่ชั้น 2 RQ49 Mall ข้างรพ.สมิติเวชทองหล่อ มื้อกลางวันเปิด 11.00-14.30 มื้อเย็น 17.30-23.00 ทุกวัน

Enya Yamato ย่านทองหล่อ

4. Enya Yamato ร้านราเมงจากนาโกย่า เน้นขาย Taiwan Mazesoba เมนูเกิดใหม่เมื่อ 10 ปีแล้วที่ดัดแปลงมาจาก Taiwan Ramen

Taiwan Ramen มีต้นกำเนิดเมื่อปี 1970 ณ ร้าน Misen เมือง Nagoya (แน่นอนที่ไต้หวันไม่มีเมนูนี้) โดยเจ้าของร้านชาวไต้หวันที่อยากทำราเมงแบบเผ็ดๆ จนคนญี่ปุ่นเข้าใจผิดกันหมดว่าคนไต้หวันกินบะหมี่แบบเผ็ดกันหมด ท็อปปิ้งของไต้หวันราเมงจะเป็นหมูสับแบบเผ็ดคล้ายๆ Tantanmen

ในปี 2008 เชฟฮานาบิเข้าของร้านราเมงร้านนึงในนาโงย่าได้คิดค้น Taiwan Mazesoba โดยใช้ท็อปปิ้งแบบเดียวกับไต้หวันราเมงและเพิ่มไข่แดงดิบ สาหร่าย ต้นหอม แต่เอามาทำเป็นอาบุระโซบะและใช้คำว่า Maze ที่แปลว่าคลุก แทนคำว่า Abura

Taiwan Mazesoba ของที่นี่ถือว่าทำได้ดีกว่าหลายๆ ร้านที่เคยกินมา ปกติที่อื่นมักจะทำเป็นเมนูเสริมหรือเมนูพิเศษ แต่ของที่นี่คือเมนูหลักเลย ท็อปปิ้งจะมีต้นหอม กุ้ยช่าย ไข่แดง หมูสับรสเผ็ด สาหร่ายบด กระเทียมบด เส้นใหญ่ หนา กลม ช่วยเพิ่มหน้าสัมผัส บวกกับไข่แดงที่เป็นเหมือนกาวที่ช่วยให้ท็อปปิ้งติดกับเส้นเข้าปากได้ง่าย โดยรวมรสชาติดีมากๆ และทางร้านเข้าใจถึงธรรมชาติของราเมงแบบนี้ดี

ร้านอยู่ตีนบันได BTS ทองหล่อ ฝั่งที่จะเข้าซอยทองหล่อ มื้อกลางวันเปิด 11.30-15.30 มื้อเย็น 18.00-22.00 ปิดวันอังคาร

Nanase Ramen ย่านทองหล่อ

5. Nanase Ramen สาขาทองหล่อ ร้านนี้จะเด่นราเมงซุปไก่

ในรูปคือราเมงซุปไก่ใส่ท็อปปิ้งทุกอย่าง เนื้อไก่ ลูกชิ้นไก่ ไข่ยางมะตูม และต้นหอม ซุปจะเป็นซุปไก่ โทนจะออกไปทางหนักและเข้มข้น ถ้าคนที่ไม่ชอบของเลี่ยนอาจจะไม่ชอบ แต่ส่วนตัวผมว่าอร่อย เส้นเหนียว น้ำซุปเกาะเส้นได้ดี ท็อปปิ้งก็อร่อย ทุกอย่างในชามออกมาโทนเดียวกันหมด ทางร้านเลยมีวาซาบิให้ใส่ตัดเลี่ยน

ร้านอยู่ปากซอยทองหล่อ ข้าง 55โภชนา เปิด 11.00-3.00 ทุกวัน

Tenri Sutamina Ramen ย่านทองหล่อ

6. Tenri Sutamina Ramen ร้านราเมงจากประเทศญี่ปุ่น สาขาแม่อยู่ที่จังหวัดนารา

Stamina Ramen มีต้นกำเนิดจากจังหวัดอิราบากิ เป็นราเมงซุปทงคทสึ 豚骨 ผสมกับโต้วปันเจี้ยง 豆瓣醬 (น้ำพริกถั่วเสฉวน) ท็อปปิ้งจะมีแค่ผัดผักที่ผัดกับโต้วปันเจี้ยง

เมนูที่สั่งคือ Stamina Ramen เพิ่มท็อปปิ้งชาชู ไข่ ต้นหอมซอย ฿240 ผัดผักจะมีผักกาดขาด ถั่วงอก กุ้ยช่าย ผักมาแบบยังกรอบอยู่ เส้นไซส์ประมาณเส้นเล็กบ้านเรา ตัดมาแบบเหลี่ยม ชาชูเป็นแบบม้วนตุ๋นเปื่อย ไข่ยางมะตูม ซุปเป็นรสโต้วปันเจี้ย เผ็ดนัวๆ ชาชูกับไข่จะโดนรสโต้วปันเจี้ยงกลบหมด ต้นหอมซอยช่วยเบรกรสโต้วปันเจี้ยงได้ รสชาติโดยรวมถือว่าดี เท็กซ์เจอร์ในชามก็หลายหลายดี มีทั้งผัดผักที่กรอบ ชาชูและไข่ที่นิ่ม

ร้านอยู่ทองหล่อช่วงปากซอยโคซีแร เปิด 11.00-23.00 ทุกวัน

Ajisai Ramen ย่านทองหล่อ

7. Ajisai Ramen ร้านราเมงโดยเจ้าของคนญี่ปุ่น เส้นราเมงสดผลิตเอง และน้ำซุปที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ

เมนูที่ลองวันนี้คือซุปทงคทสึออริจินัลของทางร้านไซส์เล็ก เพิ่มชาชู ฿200 ความท้าทายของทงคทสึราเมงที่ขายในบ้านเราคือจะทำอย่างไรให้ซุปครีมข้นที่เหม็นคาวกระดูกสามารถรับประทานอย่างเอร็ดอร่อยได้ในอากาศที่ร้อนอย่างบ้านเรา ถ้าซุปที่เข้มข้นตามแบบต้นฉบับญี่ปุ่นเลยต้องเสิร์ฟในอุณภูมิที่ร้อนมากๆ แต่ถ้าลดอุณภูมิลงมาน้ำซุปจะเหม็นคาวกระดูกทันที ซึ่งร้านนี้คือว่าตีโจทย์ได้แตกโดยการใส่ต้นหอมสดลงไปในซุปและมีซุปดาชิใส่กาแยกไว้แบบทสึเคะเมงไว้สำหรับคนที่คิดว่าซุปเลี่ยนเกินไปใส่เจือจางได้ ส่วนอุณภูมิซุปของร้านนี้ร้อนประมาณก๋วยเตี๋ยวน้ำบ้านเรา แต่ยังรู้สึกถึงความเข้มข้นและความเป็นครีมของซุปเหมือนเดิมและไม่เย็นเกินไปจนคาวกลิ่นกระดูก

เส้นสามารถเลือกระดับความแข็งได้ ผมเลือกแบบแข็งสุด แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าน่าจะแข็งได้มากกว่านี้อีก ชาชูเนื้อนุ่ม หอมซอส ได้กลิ่นไหม้เกรียมๆ ตรงขอบ ไข่ต้มเป็นยางมะตูม หอมซอสเช่นกัน ส่วนผักจะมีต้นหอม หัวหอม และถั่วงอก

สาขาที่มาลองคือสาขาทองหล่อ อยู่ข้างๆร้าน Ainu มื้อกลางวันเปิด 11.30–3.00 มื้อเย็น 18.00-2.00 ทุกวัน

Ramen Hyakumangoku ย่านทองหล่อ

8. Ramen Hyakumangoku ร้านราเมงโดยเจ้าของคนญี่ปุ่นที่มาจากเมือง Onomichi, Hiroshima และได้นำราเมงในสไตล์บ้านเกิดตัวเองมาเสิร์ฟให้คนไทยได้ลิ้มลองกัน

Onomichi Ramen จัดอยู่ในหมวดโชวยุราเมง มวลซุปจะหนัก รสโชวยุเข้มข้นจนเกือบขม กลิ่นน้ำสต็อคปลาแห้งชัด และเส้นจะใหญ่ (ลดหน้าสัมผัสเพราะซุปเข้มข้น) ในขณะที่โชวยุราเมงแบบโตเกียวมวลจะเบาๆ รสโชวยุหอมสดชื่น และใช้เส้นเล็ก(เพิ่มหน้าสัมผัสทำให้น้ำซุปเกาะเส้นได้มากกว่า เพราะซุปรสเบา)

สำหรับเมือง Onomichi ผมได้แต่นั่งชินคันเซ็นผ่านไปผ่านมาในทริปฮิโรชิม่าครั้งที่แล้วเพราะสถานีไกลจากตัวเมืองมากๆ เลยพลาดโอกาสที่จะชิมโอโนมิชิราเมงแบบแท้ๆที่นั่น

#onomichiramen #尾道ラーメン ราเมงสไตล์เมืองโอโนมิชิเพิ่มชาชู ฿160+ ท็อปปิ้งจะมีชาชู หน่อไม้ ต้นหอม และมันหมูสับ (เลือกแบบไม่ใส่มันหมูได้) เส้นเลือกแบบแข็งได้ (Katame) และเลือกซุปลดเค็มแบบลิ้นคนไทยได้ วันที่ไปผมเป็นคนไทยคนเดียวในร้าน พอสั่งเสร็จพนักงานจะถามย้ำว่าเอาซุปลดเค็มรึเปล่า แน่นอนผมต้องปฏิเสธน้ำใจเค้า

ทันทีที่น้ำซุปคำแรกผ่านคอหอยผมไปทำให้นึกถึงโชวยุราเมงร้าน Kujikara ที่ Amanohashidate, Kyoto แต่รสชาติจะเบากว่าเล็กน้อย น้ำสต็อคปลาจะใช้ปลาแห้งจากทะเลสาบเซโตะซึ่งเป็น otop ของที่นั่น มันหมูสับจะแทรกมาในระหว่างเส้นช่วยเพิ่มความสนุกในการเคี้ยว ชาชูใช้เนื้อติดเอ็น ตุ๋นจนเนื้อนุ่มแล้วน้ำซอสเข้าไปในเนื้อ และร้านนี้เป็นราเม็งที่ปรับอุณภูมิและรสชาติลงมาให้เหมาะกับอากาศบ้านเราแล้ว แต่รสชาติอร่อยเข้มข้นอยู่

ร้านอยู่บนชั้น 2 ของ Yakiniku Hitashima ทองหล่อ 9 เปิด 18.00-2.00 ปิดวันอาทิตย์

Ikkousha Ramen ย่านทองหล่อ

9. Ikkousha Ramen ร้านราเมงจากฟูกุโอกะมีสาขาทั่วโลกกว่า 40 สาขา เน้นขายทงคทสึราเมงสไตล์ฮากาตะ ซึ่งเป็นต้นตำรับของทงคทสึราเมงแบบเดียวกับ Ichiran หรือ Ippudo

ฮากาตะราเมงจะมีท็อปปิ้งแค่ชาชู ไข่ เห็ดหูหนู ต้นหอม สาหร่าย และเครื่องปรุงบนโต๊ะจะต้องมีผักดองแบบเผ็ด (Kasashi Takana) กับขิงดอง (Beni shoga) ส่วนความแตกต่างระหว่างฮากาตะราเมงแต่ละร้านจะอยู่ในรายละเอียดที่กล่าวมาข้างต้น

สั่ง "ราเมงโคตรหมูแผ่มาลอง" (Megachashumen) ลดราคาช่วงโปรโมชั่น ฿299 จากราคาปกติ ฿350 น้ำซุปรสครีมกระดูกหมูเข้มข้นไปด้วยกันกับอุณภูมิที่เสิร์ฟ แบบว่าถ้าซุปเย็นกว่านี้อีกนึดนึงน้ำซุปจะกลายเป็นเหม็นทันที หมูชาชูใช้หัวไหล่หมูต้มไม่ได้ปรุงรสอะไรมาก ไข่ก็ยางมะตูมก็เช่นกัน ทานคู่กับน้ำซุปและเส้นรสชาติจะพอดีเอง แต่สั่งแบบธรรมดา 4 แผ่นปริมาณหมูจะพอดีกับน้ำซุปมากกว่า แบบพิเศษหมูจะเยอะเกินไปหน่อยเพราะบางคำอยากกินแค่เส้นกับน้ำซุปเฉยๆ เส้นสั่งแบบแข็งลวกมาได้แข็งตามมาตรฐาน แต่ถ้าตามความชอบของผมรู้สึกว่ายังแข็งได้มากกว่านี้ และที่พิเศษของร้านนี้คือขวดเครื่องปรุงที่เขียนว่า Ramen sauce ถามพนักงาน พนักงานตอบว่าเป็นซอสสูตรลับของทางร้าน แต่ผมชิมแล้วคิดว่ามันคือน้ำปลาดีครับ เหยาะลงไปแล้วรสชาติกลมกล่อมขึ้นแต่ถ้ามากไประวังเค็ม ใครอยากมาเปิดโลกกินราเมงกับน้ำปลาก็มาลองได้ครับ

สาขาที่มาลองคือสาขาทองหล่อ 13 อยู่ข้าง After you ทองหล่อ 13 เข้าทางทองหล่อ 13 หรือ J Avenue ก็ได้ เปิด 11.00-2.00

Nojiya Yushi Ramen ย่านทองหล่อ

10. Nojiya Yushi Ramen ร้านราเมง 2 ร้านในชายคาเดียวกัน Nojiya จากฮอกไกโด และ Yushi จากยามากาตะ

เมนูในร้านจะมีทั้งราเมงจาก 2 ร้านหลักคือมิโสะราเมงจากร้านโนจิยะ และโชวยุราเมงจากร้านยูชิ และราเมงจากภูมิภาคอื่นๆเช่น โชวยุราเมงจากโตเกียว จิโร่ราเมงจากร้านจิโร่ในโตเกียวที่กำลังเป็นที่นิยม มาเสะโซบะจากนาโงย่า จัมปงจากนางาซากิ

#厳選醤油ラーメン Gensen Shoyu Remen ใช้โชวยุชื่อดังจากยามากาตะผสมกับซุปปลาบินแห้ง น้ำซุปจะใสและมีรสทะเลมากกว่าโชวยุราเมงปกติ อุณภูมิน้ำซุปค่อนข้างร้อนและมีน้ำมันลอยหน้าช่วยให้ซุปร้อนได้นาน เส้นเป็นแบบหยักลวกมาแบบไม่นิ่มหรือแข็งจนเกินไป หน่อไม้หอมกลิ่นหมักโชวยุ ชาชูใช้เนื้อสันค่อนข้างลีน ติดมันตรงขอบๆ นิดๆ เนื้อเปื่อยนุ่มพอดี ไม่ถึงกับละลาย ไข่ต้มไม่ได้หมักซอส ส่วน #げそ天 #gesoten สั่งเพิ่มมาเอง เป็นหนวดปลาหมึกชุบแป้งทอด หนวดปลาหมึกมีรสในตัว แป้งที่ชุบมามีกลิ่นหอม กรอบนานแม้จะแช่อยู่ในน้ำซุป

ร้านอยู่ชั้น 1 ทองหล่อทาวเวอร์ ทองหล่อ 18 เปิด 11.30-2.30 ทุกวัน