ทัศนคติ (แปลกๆ) ของคนญี่ปุ่นบางคนกับการทำงาน

ถ้านึกถึงชาติที่บ้างาน ในความคิดของใครหลายคนก็คงจะยกให้ญี่ปุ่นอยู่บนยอดอันดับแน่ๆ อย่างที่เคยได้ยินเรื่องราวกันมาบ้าง ตอนแรกๆ ที่ทำงานในบริษัทญี่ เราทำงานมาได้ครบเดือนนึงก็เจอแนวคิดแปลกๆ ของคนญี่ปุ่นที่มีต่องานหลายอย่างเลย ซึ่งก็ทำให้ปวดหัวไม่น้อย 1 เดือน ได้มา 4 เรื่อง เฉลี่ยสัปดาห์ละเรื่องเลยทีเดียว


“ช่วงที่ว่างที่สุดงั้นเหรอ? เรื่องแบบนั้นไม่มีหรอกนะ”


เราลองถามพี่เลี้ยงเล่นๆ ว่าในหนึ่งปีช่วงไหนที่ว่างที่สุด (ถามเพราะเล็งหาช่วงลางานไปเที่ยว) เขาก็บอกว่า เดือนพฤษภาคมกับพฤศจิกายน แต่ก็ไม่แน่นอนนะ จากนั้นก็พูดต่อว่า ไม่ควรพูดคำว่าเมื่อไหร่ว่างที่สุดเลยนะ เราควรจริงจังตั้งใจทำงานสิ นี่ทำงานแลกเงินเดือนนะ ไม่ได้ให้ทำฟรี ถ้างานนึงเสร็จก็ต้องหางานใหม่ทำแทน ไม่ควรอยู่เฉยๆ ลอยหน้าไปมา ไม่ใช่นักเรียนแล้วนะ จากคำพูดที่มาเป็นชุดของพี่เลี้ยง ทำให้ได้รู้ว่าคำว่า ”ว่าง” สำหรับคนญี่ปุ่นบางคนมีความหมายลบ ไม่ควรใช้ ถามนิดเดียวโดนเป็นชุดซะอ่วมเลย เราเลยบอกพี่เลี้ยงว่า โอเค งั้นวันหลังจะถามว่า ช่วงไหนยุ่งน้อยที่สุดแทนละกัน พี่เลี้ยงก็บอกว่าพูดแบบนั้นดีกว่าเยอะ เธออ่านมาละนี่เรื่องวิธีการเตรียมใจเป็นพนักงานที่ดี เสริมกำลังใจทำงานตัวเองด้วยคำพูดบวกๆหน่อย (เป็นผลบวกกับบริษัท)


“ถ้าเราลางานยาวๆ ได้ คนอื่นเขาก็อยากลาเหมือนกัน”


เข้าปีแรกได้วันลามา 10 วัน เพื่อนร่วมรุ่นใช้วันลากันรัวๆ ตัวเองยังไม่เคยใช้เลย ก็เลยคิดว่าจะลางานวันเกิดละกันเพราะที่บริษัทอนุญาตให้ลางานในวันเกิดตัวเองได้ ไม่อยากน้อยหน้าเพื่อน แต่พอเช็ดดูดีๆ วันเกิดดันมีประชุมแผนก เลยเปลี่ยนวันดีกว่า ก็ปรึกษาพี่เลี้ยงว่าจะลาวันนี้ๆ นะ โอเคไหม พี่เลี้ยงถามจะลาไปไหนเหรอ มีแผนละเหรอ ถ้าไม่มีไม่ต้องลาหรอกนะ ลาเพราะอยากหยุดงานเฉยๆ นอนอยู่บ้านไม่ดีนะ ต้องมีเป้าหมายสิจะลางาน เราเลยพูดส่งๆ ไปว่างั้นเก็บวันลาเผื่อไว้ตอนไปสอบใบขับขี่ก็ได้ จากนั้นก็คิดว่าจะทำตัวดีๆ ไม่ลาเล็กๆ น้อยๆ ละ ขอลากลับบ้านช่วงปีใหม่ให้ยาวขึ้นดีกว่า พอไปถาม ก็ได้คำตอบกลับมาว่า แบบนี้ยากนะ ใครๆเขาก็อยากลาวันนี้เพื่อที่จะได้ต่อรวดเดียวให้เป็นวันหยุดยาวทั้งนั้น ถ้าเธอทำได้คนอื่นเข้าก็อยากทำเหมือนกัน เราต้องคิดถึงใจคนอื่นด้วยสิ คนญี่ปุ่นเขาเกรงใจกันไม่ค่อยมีใครทำหรอก สรุปเลยไม่ได้ลามันสักวันซะงั้น อดเลย


“สัปดาห์หน้าเริ่มลองทำโอทีละกันนะ”


ที่บริษัทจะไม่อยากให้เด็กใหม่ทำโอที 5 โมงเย็นปุ๊บจะไล่กลับบ้านทันที ยิ้มแป้นกลับบ้านไวทุกวัน พอเริ่มสัปดาห์ที่ 3 พี่เลี้ยงก็บอกว่าสัปดาห์หน้าเริ่มลองทำโอทีสักนิดหน่อยละกันนะ ถึงวันจันทร์สัปดาห์นั้น ฮีก็ให้งานเรามา เราก็นั่งทำไปเรื่อยๆ พอใกล้จะ 5 โมงเย็น ฮีก็ถามว่าวันนี้อยู่ต่อได้ไหม ถ้าไม่มีอะไรก็อยู่ต่อทำให้เสร็จไปเลยละกัน เรารู้สึกแปลกมากกับความคิดของพี่เลี้ยงเพราะโอทีคือการทำงานล่วงเวลา ไม่ใช่สิทธิ์หรืองานอะไรสักอย่างที่พอเวลาผ่านไปแล้วได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นก็สามารถทำได้ ตามความเข้าใจของเราที่มีมาตลอดคือคนเราต้องทำโอทีก็เพราะมีงานเร่งด่วนแล้วทำไม่ทัน เลยต้องอยู่ล่วงเวลาเพื่อทำงานต่อให้เสร็จทันกำหนด แต่นี่งานที่เราได้มาก็ไม่ใช่งานเร่งด่วนอะไรเลย ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องอยู่ล่วงเวลา แล้วทำให้บริษัทต้องจ่ายเงินเพิ่มให้เลยสักนิด คนญี่ปุ่นแบบพี่เลี้ยงคงเห็นโอทีเป็นงานอะไรสักอย่างล่ะมั้ง คิดแบบนี้คงไม่ต้องกลับบ้านแล้วล่ะ แต่เรื่องนี้ถ้าคิดดูดีๆแล้วเป็นเรื่องที่ไม่ดีเลย เพราะทำให้บริษัทจ่ายเงินเพิ่มทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น


“ไปตอกบัตรออกก่อนจะเริ่มเตรียมงานของบริษัทดีกว่านะ”


บริษัทที่ทำงานอยู่ตอนนี้จะจัดงานเทศกาลเป็นประจำทุกปี พนักงานทุกคนไม่จำเป็นต้องร่วมงานเทศกาลนี้ แต่ฝ่ายขายจะออกร้านขายของทุกปี ทีนี้ก็ต้องมีการเตรียมของพวกป้ายตกแต่งต่างๆ ซึ่งก็ต้องแบ่งเวลาเตรียมไปพร้อมๆ กับทำงานของแต่ละวัน เราเป็นเด็กใหม่ไม่ค่อยมีใครให้งานมาทำ พอว่างก็เลยนั่งออกแบบป้าย พี่เลี้ยงหันมาเห็นก็บอกว่าดีมากฝากด้วยละกัน แต่จริงๆ แล้วมาทำเรื่องพวกนี้ในเวลางานไม่ค่อยดีเท่าไหร่นะ แต่ว่าก็ช่วยไม่ได้ ยังไม่มีงานให้เลยตอนนี้ ก็ทำป้ายให้เสร็จไปละกัน และเนื่องจากมีการแบ่งทีมทำป้ายทำให้เราตัดสินใจแบบป้ายคนเดียวไม่ได้ ต้องรอรุ่นพี่ที่นั่งทำงานงกๆ อยู่ตอนกลางวันว่างก่อน ถึงจะตัดสินใจได้ว่าจะเอาแบบไหน หลังเวลาเลิกงาน 5 โมงเย็น จะมีพัก 15 นาที รุ่นพี่ก็จะมาคุยกันตอนนั้น เราก็กลับบ้านไม่ได้เพราะต้องทำป้ายก่อน รุ่นพี่ก็บอกว่าไปตอกบัตรออกก่อนแล้วค่อยมาทำคงจะดีกว่านะ เราก็ไปตอกบัตรออกด้วยความสงสัยในใจว่าทั้งๆ ที่ก็เป็นงานของบริษัทแท้ๆ จัดงานแบบนี้ก็ส่งเสริมภาพลักษณ์บริษัทเหมือนกัน บริษัทก็ได้ผลประโยชน์ ทำไมถึงมองว่าไม่ใช่งานกัน ไม่เข้าใจความคิดของรุ่นพี่คนนั้นเลย แต่รุ่นพี่ที่หัวสมัยใหม่หน่อยอีกทีม กลับบอกว่าไม่ต้องตอกบัตรออกเพราะเป็นงานของบริษัท ไม่ได้มานั่งเล่นสักหน่อย มันคงเป็นความคิดของแต่ละคนจริงๆ ต่างคนก็ต่างความคิด


ประสบการณ์ที่เจอมาเองกับตัวนี้ก็ทำให้เข้าใจมากขึ้นว่าคนญี่ปุ่นบางคนคิดอะไรอยู่ถึงไม่ยอมกลับบ้าน ทำงานมันทั้งวันทั้งคืน มีวันลาก็ไม่ลา แนวคิดแบบนี้อาจจะทำให้ดูเป็นคนที่ขยันทุ่มเทให้กับงาน แต่บางครั้งมันก็อาจทำให้คนญี่ปุ่นเครียดกับงานเกินไป อะไรที่มากเกินไป ไม่เดินทางสายกลางมันย่อมส่งผลเสียแน่นอน อย่างไรก็ตามคนญี่ปุ่นที่คิดต่างก็ยังมีอยู่ ก็คงต้องปรับตัวเข้าหากันไป สักวันอาจจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นไปตามยุคสมัย หรือว่าอาจจะเปิดดังเดิมไปตลอดกาลก็เป็นได้


บทความโดย ละมุนชมพู