รู้จักกับโชยุหลากรูปแบบ ชนิดไหนต่างกันอย่างไรบ้าง

เครื่องปรุงประจำครัวญี่ปุ่นที่จะเรียกว่าขาดไปไม่ได้เลยเหมือนกับนํ้าปลาในอาหารไทยนั่นล่ะครับ สำหรับเจ้าซอสถั่วเหลืองโชยุที่มีกลิ่นหอมและมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ หลายคนที่ทานอาหารญี่ปุ่นอาจจะคิดว่าเจ้าโชยุมันคงมีแบบเดียวล่ะมั้ง โชยุมันก็คือโชยุ แต่จริงๆ แล้วมันมีอยู่หลายประเภทเลยทีเดียว แน่นอนว่ารสชาติและกลิ่นมันก็มีแตกต่างกันไปแล้วแต่ผู้ผลิต บางทีเดินซื้อในห้างก็ทำเอาหัวหมุนเลือกไม่ถูก วันนี้ก็เลยมาแนะนำประเภทของเจ้าโชยุกัน ว่าหลักๆ แล้วมันมีประเภทไหนบ้าง


1. Koikuchi Shoyu


koikuti-syoyu


อันดับแรกเลยก็คือโชยุรสเข้มนี่ล่ะครับ แต่ว่าเขาจะไม่ได้เขียนว่า Koikuchi บนหน้าฉลาก เพราะว่าโชยุธรรมดาสามัญที่ใช้ๆ กันในครัวและขายทั่วไปตามซุปเปอร์มาร์เก็ตนั่นแหละ เหมาะสำหรับนำมาทำอาหารได้หลายประเภท


2. Usukuchi Shoyu


usukuti-syoyu


โชยุชนิดนี้นิยมใช้กันในแถมคันไซ ในเมนูที่ต้องการโชว์ความสวยงามของวัตถุดิบ เพราะว่าเจ้าโชยุชนิดนี้จะมีสีและรสชาติที่อ่อนกว่า (ที่อ่อนคือรสโชยุ แต่รสเค็มมีมากกว่า) ดังนั้นเจ้าโชยุชนิดนี้ไม่เหมาะสำหรับการนำมาจิ้มเพราะมันเค็มและมีปริมาณเกลือที่มากกว่าโชยุทั่วไปเสียอีก


3. White Shoyu


siro-syoyu


สำหรับโชยุขาวนั้น เป็นโชยุที่มีสีอ่อนกว่า Usukuchi Shoyu เสียอีก ถึงแม้ว่าจะใช้ในประมาณมากก็จะแทบไม่ค่อยเปลี่ยนสีของอาหารเลย แต่มีปริมาณเกลือพอๆ กับ Usukuchi Shoyu หลายคนอาจจะงง อ่าว งี้ทำไมไม่ใช้ White Shoyu แทน Usukuchi Shoyu เสียเลยล่ะ สีอ่อนกว่าด้วย. จริงๆ แล้วนอกจากเรื่องของสีและความเค็ม เจ้า White Shoyu ยังให้รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนกับโชยุแบบอื่นๆ เหมาะสำหรับการนำไปปรุงนํ้าซุป


4. Low salt Shoyu


genen-syoyu


โชยุที่ผ่านกรรมวิธีพิเศษ ทำให้มันมีปริมาณเกลือน้อยกว่าโชยุปกติทั่วไปถึง 50% เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพ, ควบคุมปริมาณโซเดียมในร่างกายหรืออยู่ในระกว่างการไดเอท แต่ก็ให้รสชาติที่ไม่ต่างจาก Koikuchi Shoyu มากนัก


5. Tamari Shoyu


tamari-syoyu


โชยุสูตรพิเศษที่ผลิตขึ้นโดยถั่วเหลืองสุก ทำให้มีกลิ่นและรสชาติที่ค่อนข้างแตกต่างกับโชยุชนิดอื่นๆ ส่วนมากมักจะนิยมใช้กับเมนูซาชิมิและซูชิเป็นหลัก อย่างเมนู Tsuke ที่เป็นการนำเนื้อปลาไปแช่ในโยชุกับมิริน ก็ใช้เจ้า Tamari Shoyu นี้ในการปรุงนั่นเอง


6. Saishikomi Shoyu


saisikomi-syoyu1


โชยุที่แตกต่างกับโชยุปกติ เนื่องจากนำมาผ่านกรรมวิธีการปรุงซํ้าอีกรอบหนึ่ง ทำให้ได้โชยุที่มีสีเข้มมากๆ และรสชาติที่เข้มสุดๆ เพียงไม่กี่หยดก็ทำให้อาหารของคุณมีรสชาติอร่อยได้แล้ว ไม่ค่อยจะนิยมใช้กันเสียเท่าไหร่ก็เลยทำให้หาซื้อได้ค่อนข้างยาก แต่ถ้าเกิดใครเผลอไปหาซื้อมาได้โดยบังเอิญก็อย่านำมาเทแบบพรวดล่ะ อาจจะถึงขั้นต้องทิ้งอาหารจานนั้นไปเลยทีเดียวก็เป็นได้


7. Tsuyu


soba-tuyu


นํ้า Tsuyu ก็ถือว่าเป็น Shoyu ชนิดหนึ่ง เพราะว่าเป็นซอสที่ทำจากถั่วเหลืองเหมือนกัน เพียงแต่ว่านำมาปรุงรสด้วยคอมบุและคัทสึโอบุชิ เมื่อนำมาเจือจางกับนํ้า ก็จะเป็นซอสอร่อยๆ สำหรับจิ้มโซบะแล้ว ไม่เพียงแต่ใช้จิ้มเฉพาะโซบะเท่านั้น แต่ว่ามันเข้ากับเทมปุระอีกด้วย


8. Shoyu สำหรับ Tamago Kake Gohan


tamagokake-syoyu


Tamago Kake Gohan หรือว่าข้าวตอกไข่ดิบ เมนูสุดซิมเปิ้ลเบสิคสำหรับชาวญี่ปุ่น เพียงแค่ตอกไข่ลงไปบนข้าวสวยร้อนๆ พร้อมเหยาะโชยุลงไปสักนิด ก็สามารถลิ้มความอร่อยได้แบบง่ายๆ จริงๆ แล้วเราจะใส่โชยุอะไรก็ได้ ไม่ผิดกติกา แต่ทีนี้เขาก็ได้มีการคิดค้นโชยุสำหรับเหยาะในเมนู Tamago Kake gohan โดยเฉพาะ ให้รสชาติอร่อยและกลมกล่อมเข้ากันได้ดีกว่าโชยุปกติ อันนี้ส่วนตัวก็ไม่ได้สันทัดจริงๆ เพราะว่าไม่ชอบทานข้าวตอกไข่ดิบ ก็เลยไม่รู้ถึงความแตกต่างจ้า


ข้อมูลและภาพจาก


lohaco.jp
yamashin-shoyu.com
shopping.yahoo.co.jp
tomoechan.jp
http://npo-i-i-support.org/