ภาษาญี่ปุ่นและความรู้สึกของเราที่ไม่ตรงกัน

เวลาคนเราพูดแต่ละภาษาจะมีความรู้สึกต่อภาษานั้นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากวัฒนธรรมของเจ้าของภาษานั้นๆ ถ้าให้เปรียบว่าภาษาเป็นผู้หญิง ภาษาอังกฤษจะเป็นสาวมั่น ตรงๆ กระฉับกระเฉง  ภาษาไทยจะเป็นสาวง่ายๆสบายๆ เป็นกันเอง ส่วนภาษาญี่ปุ่นจะเป็นสาวสุภาพ ถ่อมตัว สงวนท่าที สำหรับเราภาษาญี่ปุ่นนั้นดูลึกลับซับซ้อนและต้องคอยระวังอยู่เสมอเวลาใช้ ต้องคอยเดา คอยตีความหมายโดยนัย ภาษาญี่ปุ่นจะมีระดับของภาษาแบ่งย่อยเยอะมาก ซึ่งจะมีความรู้สึกแอบซ่อนอยู่ในนั้น ที่บางครั้งก็รู้สึกว่าเข้าใจได้ยาก เด็กไทยที่ไปใช้ชีวิตท่ามกลางคนญี่ปุ่นอย่างเราก็เคยผสมผสานวัฒนธรรมทางด้านภาษา จนเกิดเป็นเรื่องแปลกๆ ขึ้นมา ส่วนใหญ่เพราะคิดเองเออเองล้วนๆ

“แค่เปลี่ยนคำที่ใช้ ก็รู้สึกว่าระยะห่างมันลดลง”

เราอยู่ชมรมอาสามาสมัครของคนญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 1 ชมรมนี้ทำกิจกรรมพัฒนาด้านการศึกษาให้แก่เด็กในประเทศไทย ทำให้คนญี่ปุ่นในชมรมสนใจวัฒนธรรมไทยกันเป็นพิเศษ สมัยที่เราอยู่ปี 1 ได้สังเกตเห็นว่าเพื่อนคนญี่ปุ่นในรุ่นเดียวกันจะเรียกชื่อรุ่นพี่ตามด้วยคำว่า”ซัง”ต่อท้ายชื่อเสมอ เพื่อเป็นการให้เกียรติ (“ซัง”แปลว่า”คุณ”) และใช้ภาษายกย่องและภาษาถ่อมตัวกับรุ่นพี่ ซึ่งพอเราได้ยินจะรู้สึกว่าเหมือนต้องบูชารุ่นพี่และดูห่างไกลกันเหลือเกิน ยิ่งพอมีความรู้สึกส่วนตัวที่ว่า คำว่า”คุณ”คือคำที่ใช้อย่างเป็นทางการ ยิ่งทำให้รู้สึกอึดอัด ด้วยความที่เราอยากสนิทกับรุ่นพี่คนญี่ปุ่นและอยากลดช่องว่างระหว่างเรา ก็เลยมักเรียกเขาว่า”พี่”ตามด้วยชื่อของเขา มันอาจจะดูแปลก แต่รุ่นพี่คนญี่ปุ่นเหล่านั้นเขาก็ชอบกันและเข้าใจเวลาส่งข้อความคุยกันก็จะพิมพ์แบบคนไทย เช่น “P’Kenshi” พอทำแบบนี้มันทำให้รู้สึกว่าเราไม่ใช่คนอื่นคนไกลกัน แต่พอคนญี่ปุ่นคนอื่นได้ยินก็จะงงว่าทำไมคำเรียกของเรามันแปลกๆ

“อยากเทียบชั้นเขา เลยใช้ภาษาอื่นซะเลย”

เนื่องจากชมรมมีมา 10 กว่าปีแล้ว บางครั้งก็จะมีโอกาสได้พูดคุยกับรุ่นพี่ที่แก่มากกว่าเราเป็น 10 ปี รุ่นพี่ที่แก่กว่าเรามากๆแบบนี้ สำหรับคนญี่ปุ่นถือว่าต้องบูชาอย่างถึงที่สุด รุ่นพี่ปีแก่มากันทีเหมือนต้อนรับเทวดานางฟ้า จะมาเรียกแบบสนิทสนมไม่ได้เด็ดขาด สมัยที่เพิ่งมาญี่ปุ่นใหม่ๆนั้น ไม่เข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นมากนักและมองว่าการใช้ภาษายกย่องและภาษาถ่อมตัวคือสิ่งที่มากเกินไป ดูเป็นการแบ่งชนชั้น เป็นการบังคับอีกฝ่ายลดตัวลงให้อยู่ต่ำกว่าอย่างชัดเจน รู้สึกไม่ค่อยชอบ จึงซัดภาษาอังกฤษที่ไม่มีระดับภาษามากมายเหมือนภาษาญี่ปุ่นใส่รุ่นพี่ปีแก่เหล่านั้นซะเลย อธิบายให้เข้าใจง่าย คือ ความรู้สึกเวลาพูดว่า “ทานากะซัง” จะรู้สึกว่าเรายกเขาเทิดไว้บนหัว แต่พอพูดคำว่า “You” จะรู้สึกว่าเราขยับขึ้นมาอยู่ระดับใกล้กับเขามากขึ้น ซึ่งรุ่นพี่คนญี่ปุ่นเอง เขาคงจะไม่มีทางคาดถึงว่าเราคิดแบบนั้นอยู่ในใจ และถ้าลองสังเกตดีๆคนญี่ปุ่นจะไม่ใช้คำว่า ”คุณ” (อะนะตะ) เวลาเรียกอีกฝ่าย จะเรียกชื่อคนคนนั้นแล้วเติม ”ซัง” ลงท้ายเสมอเป็นการให้เกียรติและสร้างความประทับใจว่าเราจำชื่อเขาได้ (แต่ภรรยาจะใช้คำว่าอะนะตะเรียกสามีเป็นปกติ) ซึ่งสิ่งนี้ก็แอบสอดคล้องกับสิ่งที่เราคิดเกี่ยวกับความรู้สึกของการใช้ “You”

“ปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง สำหรับเรา 2 คนมันอาจโอเค แต่กับคนอื่นนั้นมันไม่ใช่เลย”

เรื่องรุ่นพี่รุ่นน้องและการเรียกชื่อเคยมีปัญหาเกิดขึ้น ตอนอยู่ปี 2 เราเคยอึดอัดมากเรื่องการใช้”ซัง”ของคนที่รู้สึกสนิทด้วยถึงขนาดบอกรุ่นน้องที่สนิทว่าเรียกชื่อก็พอเพราะไม่อยากรู้สึกห่างเหิน เขาก็เรียกชื่อเราเฉยๆตลอด ทีนี้มันเกิดปัญหาเพราะว่าพอเพื่อนคนญี่ปุ่นคนอื่นได้ยินก็ตกใจ พูดกับรุ่นน้องญี่ปุ่นคนนั้นว่านี่รุ่นพี่นะ ทำไมไม่มีความเคารพนับถือ เรียกชื่อเฉยๆได้ยังไง เราก็เลยบอกว่าเราเป็นคนให้เขาเรียกชื่อเฉยๆเอง เพื่อนบอกว่าก็เข้าใจ แต่ไม่ได้นะ เพราะว่าคนนอกเขาจะมองว่ารุ่นน้องคนนี้ไม่ดีและไร้สัมมาคารวะ คนอื่นเขาไม่เข้าใจหรอก เราก็เลยเลิกทำแบบนั้นแล้วตามน้ำคนญี่ปุ่นเขาไปเพราะไม่อยากให้รุ่นน้องเดือดร้อน และก็คิดว่าเราอยู่บ้านเขาเราก็ต้องทำตามเขา แก้ที่ความรู้สึกของเราถึงจะถูก ถึงแม้ตอนนี้จะอยู่ปี 4 แล้ว แต่เวลามีรุ่นน้องมาเรียกว่า“ซัง”ก็ยังไม่ค่อยชิน และในก้นบึงของหัวใจจะรู้สึกว่าอีกไกลแค่ไหนกว่าเราจะได้ใกล้กัน >_<

เมื่อคนเราเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ก็ส่งผลให้ความรู้สึกของเราต่อการใช้คำแต่ละคำมันแตกต่างกันไปด้วย ซึ่งบางครั้งก็อาจก่อปัญหาเพราะคนทุกคนไม่สามารถเข้าใจตรงกันได้ อย่างไรก็ตามการได้ลองไปใช้ชีวิตกับคนที่มีวัฒนธรรมต่างจากเรานั้นมันเป็นเรื่องที่สนุกสนาน เพราะมันจะกระตุ้นให้เราคิดอะไรแปลกๆออกมาอยู่เสมอ ความรู้สึกของเราที่ไม่ตรงกันนี้ มันอาจจะไม่มีวันหายไป แต่สิ่งที่เราทำได้คือการยอมรับในความแตกต่างของกันและกัน.

 

บทความโดย  :  ละมุนชมพู

ภาพประกอบจาก

http://wooris.jp