Kesennuma (気仙沼) พิพิธภัณฑ์ฉลาม คลื่นสีฟ้า และร่องรอยความทรงจำจากสึนามิ

เชื่อว่าหลายคนยังคงจดจำเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่ของโลกที่เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 11 มีนาคม ค.ศ.2011 (พ.ศ.2554) ณ ภูมิภาคโทโฮขุของ ประเทศญี่ปุ่นได้ แผ่นดินไหวความรุนแรงขนาด 9.0 แมกนิจูดและคลื่นสึนามิขนาดใหญ่เข้าทำลายที่อยู่อาศัย รวมถึงพรากชีวิตของผู้คนไปจำนวนมหาศาล นับเป็นเวลา 7 ปีที่แล้วหลังจากเหตุการณ์ความสูญเสียนั้น สำหรับบางคนยังคงจำได้ไม่ลืมเลือน สำหรับบางคน เหตุการณ์นี้ก็เลือนหายไปจากความทรงจำเกือบหมดสิ้น แต่ทว่าร่องรอยแห่งความทรงจำของเหตุการณ์ภัยพิบัตินี้ยังคงหลงเหลือให้ผู้มาเยือนเมืองเคะเซนนุมะได้หวนรำลึกถึงวันคืนแห่งอดีตกาลได้

คงจะมีน้อยคนนักที่จะรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อเมือง “เคะเซนนุมะ”  เมืองแห่งนี้เป็นเมืองท่าติดชายทะเลอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดมิยางิ ซึ่งเป็นบริเวณเขตที่เรียกว่าซันริคุ สามารถเดินทางได้ด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือรถไฟ ใช้เวลาในการเดินทางจากเมืองเซนไดซึ่งเป็นเมืองหลวงของจังหวัดมิยางิไปยังเมืองเคะเซนุเมะประมาณ 2 ชั่วโมง เป้าหมายของการเดินทางครั้งนี้มี 3 แห่ง คือ พิพิธภัณฑ์ฉลาม (Umi no Shi Shark Museum:海の市・シャークミュージアム) ต้นสนรูปมังกร (Ryuu no Matsu :龍の松) และหินโอะเระอิชิ (Oreishi:折石)

การขับรถออกจากตัวเมืองเซนไดเพื่อมุ่งหน้าสู่เมืองเคะเซนนุมะในช่วงเวลากลางคืนนั้น ทำให้ไม่อาจจะมองเห็นวิวทิวทัศน์ตามรายทางได้ ตลอดระยะทางสองชั่วโมงกว่า ๆ สิ่งที่สัมผัสได้มีเพียงความมืดมิดและความเงียบสงัด มีเพียงแสงไฟจากไฟนำทางบนถนนหลวง และแสงสะท้อนจากป้ายสะท้อนแสงที่นำทางแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน เมื่อเริ่มขับรถลงจากถนนหลวงและเข้าสู่เขตตัวเมืองเคะเซนนุมะ จะพบตลอดกับป้ายขนาดใหญ่เด่นสะดุดตาอยู่ตลอดระยะเส้นทาง บนป้ายเขียนว่า “บริเวณนี้เคยเป็นบริเวณที่มีคลื่นสึนามิซัดเข้ามา” พร้อมกับรูปประกอบเป็นรูปคลื่น แม้ความรู้อันน้อยนิดเกี่ยวกับเมืองแห่งนี้บวกกับความมืด จะทำให้ยากต่อการจินตนาการถึงความรุนแรงของสึนามิที่เคยเกิดขึ้น ณ เมืองแห่งนี้ แต่อย่างน้อยป้ายเหล่านี้ก็ทำให้ผู้มายืนได้รับรู้ถึงร่องรอยแห่งอดีตและความทรงจำเกี่ยวกับสึนามิที่ยังคงอยู่และไม่เคยจางหายไปตามกาลเวลา

 

พิพิธภัณฑ์ฉลามที่ไม่ได้มีแค่ฉลาม

เช้าวันถัดไป จุดหมายแรกของการเดินทางคือ พิพิธภัณฑ์ฉลาม (Umi no Shi Shark Museum:海の市・シャークミュージアム) ระหว่างทางจากที่พักจนถึงตัวพิพิธภัณฑ์นั้นจะพบกับ เนินดินก่อตัวเป็นบล็อคขนาดใหญ่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสร้างสิ่งปลูกสร้างอยู่เต็มไปหมด ซึ่งน่าจะเป็นบริเวณที่รอการก่อสร้าง แต่ความสงสัยก็คลี่คลายเมื่อได้เข้าไปในพิพิธภัณฑ์ฉลาม  

พิพิธภัณฑ์ฉลาม ตั้งอยู่ติดกับท่าเรือหาปลา เป็นตึกความสูงสองชั้นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทาผนังด้วยสีแดงโดดเด่นสะดุดตา บริเวณชั้นหนึ่งเป็นตลาดสำหรับหาซื้อของฝากประจำเมืองมีทั้งของทะเลสดและแห้ง ร้านอาหาร รวมถึงอควาเรียมน้ำแข็ง ซึ่งใช้น้ำแข็งแช่ของสัตว์ทะเลที่จับได้จากในทะเลของเคะเซนนุมะ ส่วนชั้นสองคือที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ฉลาม ก่อนจะเดินขึ้นบันไดไปยังชั้นสองนั้น บริเวณเหนือทางเข้าลิฟต์สำหรับผู้พิการ ก็มีป้ายลักษณะคล้ายกับที่เห็นตามถนนเมื่อคืน ป้ายดังกล่าวมีรูปคลื่นและเขียนว่า “เมื่อครั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่แถบโทโฮขุ ระดับน้ำของคลื่นสึนามิสูงระดับเส้นนี้” ทำให้เราได้รู้ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เองก็เป็นหนึ่งในบริเวณที่ได้รับความเสียหายมาก่อนเช่นกัน



ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ผู้ใหญ่คนละ 500 เยน เด็ก 200 เยน สิ่งที่จินตนาการไว้เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์คือ ความรู้ ความบันเทิงที่ให้ความรู้เกี่ยวกับฉลาม เนื่องจากเมืองแห่งนี้เป็นเมืองท่า สามารถจับฉลามได้จำนวนมาก ทำให้ของกินที่ทำจากฉลามเป็นของขึ้นชื่อของเมืองนี้ อาทิเช่น หูฉลาม 

แต่เมื่อก้าวเข้าเท้า ไปสิ่งแรกที่ต้อนรับเรากลับไม่ใช่ฉลาม แต่กลับเป็นโซนจัดแสดง “ความทรงจำเกี่ยวกับภัยพิบัติ” มีรูปภาพก่อนและหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ ซึ่งทำให้เรารู้ว่าเนินดินโล่ง ๆ รอการก่อสร้างที่อยู่รอบ ๆ พิพิธภัณฑ์นั้นแต่เดิมเคยเป็นบ้านเรือนที่พักอาศัย และอาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เมื่อเดินต่อมาก็จะพบโซนฉายวิดีโอให้ชมเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อครั้งสึนามิได้เข้าทำลายบ้านเมืองแห่งนี้ และสัมภาษณ์ผู้ประสบภัย มีคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษประกอบตลอดทั้งการชมวิดีโอ แน่นอนว่า ภาพความรุนแรงของคลื่นที่ทำลายเมืองจนเสียหาย ชวนให้รู้สึกหดหู่ใจไม่น้อย และในตอนท้ายของวิดีโอที่มีตัวอักษรขนาดใหญ่เขียนว่า “ไม่มีทางลืม”​ ยิ่งตอกย้ำให้ผู้มาเยือนรู้ว่าร่องรอยความเจ็บปวดยังคงตราตรึงในความทรงจำของผู้คนในที่แห่งนี้ ไม่เคยจางหายไปตามกาลเวลา

เมื่อพ้นจากส่วนการแสดงเกี่ยวกับภัยพิบัติแล้วก็จะเป็นส่วนแสดงวิถีชีวิตของผู้คนเมืองเคเซนนุมะกับท้องทะเล มีการแสดงกระดูกฟันของปลาฉลาม ให้ความรู้เกี่ยวกับฉลามประเภทต่าง ๆ รวมถึงฉลามจำลองขนาดเท่าตัวจริงที่สร้างความตื่นตาตื่นใจไม่น้อย และในโซนตรงกลางซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณทางออกนั้นมีคอมพิวเตอร์และเครื่องฉายโปรเจคเตอร์ ฉายขึ้นผนังของพิพิธภัณฑ์ สามารถพิมข้อความเข้าไปเพื่อให้กำลังใจกับผู้คนในเมืองเคะเซนนุมะได้อีกด้วย




รูปถ่ายจากพิพิธภัณฑ์ฉลาม



คลื่นทะเลสีฟ้าที่โอกะมะ ฮันโซ

ขับรถไปทางทิศตะวันออกจากพิพิธภัณฑ์ฉลาม เป็นระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร ไปทางอุทยานแห่งชาติ ซันริคุ ฟุโค ภายในอุทยานแห่งชาติดังกล่าวมีบริเวณที่เรียกว่า โอกะมะฮันโซ (Ookama Hanzou: 巨釜半造)เป็นแนวโขดหินริมทะเล แต่จุดเด่นอยู่ที่เสาหินแหลมซึ่งมีความสูง 16 เมตร กว้าง 3 เมตร ตั้งเด่นตระหง่านอยู่บริเวณจุดชมวิว เมื่อเดินเท้าเข้าไปจนถึงจุดชมวิว จะเห็นป้ายไม้เก่า ๆ เขียนอธิบายความเป็นมาของหินดังกล่าวไว้ว่า เมื่อสมัยปีค.ศ.1896 เกิดเหตุการณ์สึนามิขนาดใหญ่เข้าถล่มพื้นที่บริเวณซันริคุ ทำให้ยอดหินดังกล่าวหักลงมา 2 เมตร จึงเรียกกันว่า โอเระอิชิ (แปลว่า หินหัก) มาจนถึงปัจจุบัน แม้บริเวณดังกล่าวจะมีเพียงจุดชมวิวทะเลเท่านั้น แต่คลื่นทะเลแปซิฟิกสีฟ้าครามที่ซัดเข้าฝั่งกระแทกเข้ากับแนวโขดหินสีดำเกิดเป็นฟองคลื่นสีขาว จนสามารถมองเห็นสีของน้ำทะเลได้ทั้งหมดสามสี นั่นคือฟ้าคราม ฟ้า และขาว

รูปถ่ายจากบริเวณจุดชมวิว ด้านขวาคือหินโอะเระอิชิ

 

วิวทะเลแปซิฟิกที่ทอดยาวสุดลูกหูลูกตาและคลื่นทะเลที่ซัดเข้าฝั่งก่อให้เกิดเป็นสีสันสวยงามนี้ ในอดีตมันได้สร้างคลื่นยักษ์เข้าทำลายทุกสิ่งที่ขวางหน้าอย่างบ้าคลั่ง ยิ่งตอกย้ำให้เราไม่ลืมถึงความอันตรายที่อซ่อนอยู่อีกด้านในความงดงามของท้องทะเล

 

ต้นสนมังกร

เป้าหมายสุดท้าย คือต้นสนมังกร เราขับรถลงมาใต้จากพิพิธภัณฑ์ฉลามประมาณ 11 กิโลเมตร มุ่งหน้าไปยังบริเวณแหลมอิวะอิซากิ ตลอดระยะทางยังคงเต็มไปด้วยเนินดินที่รอการก่อสร้าง และรถเครน รถตักดินในการก่อสร้างจอดเรียงรายอยู่หลายคัน เมื่อขับรถเข้ามาถึงแหลมอิวะอิซากิ จะพบกับรูปปั้นของนักซูโม่ชาวเคเซนนุมะ ซึ่งมีชีวิตในช่วงสมัยเอโดะ นามว่า ฮิโดะโนะยามะ ไรโกโร โดยรูปปั้นดังกล่าวได้ตั้งหันหน้าเข้าริมทะเล ราวกับเป็นคอยเฝ้ามองและระวังภัยให้กับบริเวณแห่งนี้

สิ่งที่อยู่ถัดจากรูปปั้นคือเป้าหมายของเรานั่นคือ ต้นสนรูปมังกร  จากคลื่นสึนามิในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่แถบโทโฮขุ ต้นไม้หลายต้นได้บริเวณแหลมอิวะอิซากิได้ถูกทำลายเสียหายจำนวนมาก เหลือต้นสนนี้เพียงต้นเดียวที่เหลือให้เห็น ลำต้นที่โค้งงอเพราะคลื่นสึนามิกลายเป็นรูปทรงคล้ายกับมังกร แม้ปัจจุบันต้นสนต้นนี้จะมีสภาพยืนต้นตายแล้ว แต่ทางเมืองเคะเซนนุมะอนุรักษ์และตกแต่งรูปร่างให้คงเหลือไว้เป็นสัญลักษณ์แห่งการฟื้นฟูจากภัยพิบัติ


รูปถ่ายต้นสนมังกร

แม้ต้นสนมังกรจะเป็นร่องรอยที่เหลือจากความทรงจำอันเจ็บปวดจากความสูญเสีย แต่มันก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังในการลุกขึ้นยืนของเมืองเคะเซนนุมะแห่งนี้อีกครั้ง

แม้เหตุการณ์ความสูญเสียนี้จะผ่านไปถึง 7 ปีแล้ว ร่องรอยอดีตกาลเหล่านี้ยังคงหลงเหลือและตอกย้ำให้ผู้มาเยือนอย่าได้หลงลืมผู้ที่ประสบภัยที่กำลังต่อสู้เพื่อกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมอีกครั้ง เราไม่รู้ว่าท้ายที่สุดแล้วต้องใช้เวลาอีกกี่ปี เมืองแห่งนี้จะกลับมาเหมือนเดิม แต่ผู้ร่วมเดินทางในครั้งนี้พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่เคยรู้มาก่อนว่ายังฟื้นฟูไม่เสร็จ” ยิ่งทำให้รู้สึกได้ว่ากระแสแห่งกาลเวลาของโลกปัจจุบันได้พัดพาสิ่งเหล่านี้ไปจากความทรงจำของผู้คนทีละเล็กทีละน้อย การเดินทางครั้งนี้ทำให้เราได้รื้อฟื้นเหตุการณ์ในอดีต มองเห็นปัญหาของผู้ประสบภัยซึ่งยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างสมบูรณ์ และความพยายามจะยืนหยัดอีกครั้งของมนุษยชาติที่แม้จะพบกับภัยธรรมชาติร้ายแรงแค่ไหนก็ยังคงก้าวไปข้างหน้าโดยไม่หลงลืมสิ่งที่เกิดในอดีตเพื่อนำมาเป็นบทเรียนสำหรับอนาคตต่อไป

 

 




ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://pc.kesennuma-kankomap.jp/tourism/detail/1073

http://pc.kesennuma-kankomap.jp/tourism/detail/1105

http://www.uminoichi.com