รู้จักกับชาหลากชนิด เครื่องดื่มสุดฮิตของชาวญี่ปุ่น

ถ้าพูดถึง "ชา" เชื่อว่าแวบแรกที่เขามาในหัวของใครหลายคนก็คือ "ญี่ปุ่น" อย่างที่รู้กันดีว่าชาสำหรับที่นี่ไม่ใช่แค่เครื่องดื่มแต่เป็นวัฒนธรรมประเพณีที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองเขามากเนิ่นนาน ชาญี่ปุ่นเป็นที่เลื่องชื่อ ทั้งในเรื่องของคุณภาพและรสชาติเข้มข้น โด่งดังสุดๆ ก็เจ้าชาเขียวเนี่ยแหละ ดังถึงขนาดที่ว่าถ้าพูดถึงชาแล้วไม่ได้ระบุชนิดของชาก็จะคิดว่าเป็นชาเขียวทันที แต่ว่าชาญี่ปุ่นไม่ได้มีแค่ชาเขียวน่ะสิ แล้วชาเขียวก็ไม่ได้มีแค่ชนิดเดียวด้วย วันนี้เราก็เลยขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับชาญี่ปุ่นกัน โดยจะแบ่งออกเป็น 2 หมวดใหญ่ๆ คือ ประวัติ กับ ประเภทของชา ดังนี้

ประวัติ


f979319d


ชาเริ่มนำเข้ามาในญี่ปุ่นครั้งแรกสมัยยุคนะระ ค.ศ.710-794 ช่วงนั้นยังเป็นที่รู้จักกันไม่มากเพราะเป็นสินค้าราคาแพงสำหรับนักบวชและขุนนางที่นิยมดื่มกันเพื่อบำรุงร่างกาย ประมาณปี ค.ศ.1192-1333 ยุคคุมาคุระ ไอไซ (Eisai) นักบวชผู้ก่อตั้งศาสนาพุทธนิกายเซน ต้นแบบของพิธีชงชา นำต้นชาพร้อมเมล็ดพันธุ์และเทคนิควิธีการชงชากลับมาจากจีน และมอบให้เมียวเอะแห่งวัดโคซันจิปลูกเพื่อนำมาชงให้นักบวชในวัดดื่มเพื่อเรียกสมาธิขณะปฏิบัติธรรม (ปัจจุบันไร่ชาวัดโคซันจิเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเกียวโต แล้วก็เป็นไร่ชาที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่นด้วย) หลังจากนั้นการเพาะปลูกชาในญี่ปุ่นก็เริ่มแพร่หลายไปในหลายๆ เมือง โดยเฉพาะยุคมุโรมาจิ ค.ศ.1333-1573 ชาถูกนำมาใช้เป็นเครื่องดื่มในการเฉลิมฉลอง พบปะสังสรรค์ และต้อนรับแขกเหรื่อมากขึ้นจนกลายเป็นวัฒนธรรมสำคัญในปัจจุบัน

 

ประเภทของชา


Ryokucha (Green Tea) : Gyokuro, Sencha, Bancha

gyokuro-sencha-banchaชาวญี่ปุ่นเรียกชาเขียวว่า เรียวคุฉะ (Ryokucha) แน่นอนว่าในบรรดาเรียวคุฉะที่ปลูกกันมากๆ ในญี่ปุ่นก็มีหลายเกรดหลายระดับแตกต่างกันไป ได้แก่...

เกียวคุโระ (Gyokuro) ชาเขียวเกรดที่ดีที่สุด เป็นชาเขียวที่เริ่มเก็บตั้งแต่รอบแรกของฤดูเก็บเกี่ยว พวกมันจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีและเก็บรักษาอยู่ในร่มก่อนเก็บเป็นเวลาประมาณ 3 อาทิตย์ ใบชาทุกใบที่ได้จึงเป็นยอดอ่อนใบชาคุณภาพ แล้วก็จะดื่มกันเฉพาะในงานพิธีการสำคัญๆ เท่านั้น

เซนฉะ (Sencha) เป็นชาเขียวเกรดรองลงมา เก็บรอบแรกในฤดูเก็บเกี่ยวเหมือนกันแต่ใบชาไม่ได้ถูกเก็บรักษาไว้ในร่ม เจ้าชาเซนฉะนี่แหละที่คนญี่ปุ่นนิยมดื่มกันในชีวิตประจำวัน

บันฉะ (Bancha) ใบชาเกรดต่ำสุด เป็นใบชาแก่ที่เหลือจากการเก็บในรอบก่อนๆ มีรสอ่อน ไม่เข้มข้น นิยมให้บริการฟรีในร้านอาหารทั่วไป

 

Matcha

Matcha-Green-Tea

มัทฉะ เป็นผงชาเขียว สมัยก่อนทำจากใบชาชั้นดีอย่างเกียวคุโระเพื่อนำใช้ในพิธีชงชา แต่ต่อมาเมื่อชาเขียวเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นจึงได้เปลี่ยนกรรมวิธีการผลิตมาใช้เซนฉะใบชาระดับรองลงมาแทน มัทฉะเป็นชาที่นิยมนำมาใส่อาหารเพราะสะดวก สีสวย มีกลิ่นหอม และราคาไม่แพง

 

Konacha

konacha

โคนะฉะ ผลิตจากใบชาส่วนที่เหลือจากกระบวนการผลิตเกียวคุโระหรือเซนฉะ เป็นชารสเข้มที่นิยมเสิร์ฟในร้านซูชิหรือตามร้านอาหารราคาย่อมเยาทั่วไป

 

Hojicha

hojicha_1x

โฮจิฉะ เป็นชาที่ผลิตด้วยความร้อนสูงจนใบชากลายเป็นสีน้ำตาล มีกลิ่นหอม รสชาติจะออกหวานกว่าชาปกติ นิยมดื่มเย็นๆ คลายร้อนหรือเพื่อเพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย

 

Genmaicha

Genmaicha

เกนไมฉะ หรือ ชาข้าวกล้องคั่ว เป็นชาที่นำใบชาเขียวมาผสมกับข้าวกล้องที่ผ่านการคั่วจนกลายเป็นสีน้ำอ่อน มีกลิ่นหอม นิยมเสิร์ฟเป็นเครื่องดื่มทางเลือกคู่กับชาวเขียวแบบปกติสำหรับใครที่อยากลองชิมรสชาติชาใหม่ๆ

 

Kocha

kocha

โคฉะ หรือ ชาแดง เป็นชาที่ผ่านกระบวนการหมักอย่างเต็มที่ (ใบชาทำปฏิกิริยากับอากาศแล้วเกิดกระบวนการหมักขึ้นในใบชาโดยไม่ได้ผ่านความร้อนเลย) จนเกิดเป็นสีน้ำตาลแดงเข้ม เป็นชาประเภทเดียวกับชาที่นิยมเสิร์ฟในร้านอาหารตะวันตกอย่าง English Breakfast Tea

 

Oolongcha

oolong_tea

ชาอู่หลง เป็นชาที่มีกระบวนการผลิตคล้ายๆ กับโคฉะ แต่ผ่านกระบวนการหมักแค่บางส่วน ทำให้สีของชาอ่อนกว่า แต่ว่ายังคงรสชาติเข้มข้น ชุ่มคอ แถมมีกลิ่นหอม นิยมเสิร์ฟทั้งแบบร้อนและแบบเย็นตามร้านอาหารต่างๆ ทั่วญี่ปุ่น

 

Jasmine-cha

jasmine tea

ชามะลิ เป็นที่นิยมมากๆ ในโอกินาว่า ผลิตโดยการนำใบชามาผสมกับดอกมะลิ จะเป็นชาเขียวหรือว่าชาอู่หลงก็ได้กลิ่นหอมและช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายได้เหมือนกัน

นอกจากชาจะเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นแล้ว ประโยชน์ของมันก็เยอะมากๆ ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในเรื่องของปัญหาสุขภาพ ทั้งช่วยลดคอเลสเตอรอล ขับสารพิษ ต่อต้านอนุมูลอิสระ และช่วยฟื้นฟูร่างกายที่เหนื่อยล้าให้กลับมาสดใส แต่ว่าชาทุกชนิดก็มีสารคาเฟอีนซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทที่อาจก่อให้เกิดโทษหากว่าดื่มในปริมาณที่ไม่เหมาะสมได้เช่นกัน เพื่อนๆ ท่านไหนที่ชื่นชอบการดื่มชาก็อย่าลืมดื่มในปริมาณพอเหมาะพอดีกันด้วยนะจ๊ะ จะได้ดื่มด่ำรสชาติชาได้อย่างมีความสุข

 

ภาพและข้อมูลจาก
http://www.japan-guide.com/
http://www.myjapanesegreentea.com/
http://www.thehighlandtea.com/