“การหางานของเด็กจบใหม่ในญี่ปุ่น” สนามเพื่อการเติบโตและเรียนรู้

หลายต่อหลายคนที่มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่นก็มีความใฝ่ฝันว่า เอาล่ะ ฉันจะทำงานในประเทศญี่ปุ่นนี่แหละ ในช่วงที่ใกล้จะจบการศึกษา นักศึกษาแต่ละคนก็ต้องเริ่มสานต่อความฝันโดยการเตรียมตัวเตรียมพร้อมเพื่อที่จะเข้าสู่โลกของการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศใดๆ บนโลกนี้ บริษัทแรกที่เริ่มต้นการทำงานถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นบันไดเพื่อไปสู่อนาคต ดังนั้นการหางานของเด็กจบใหม่ถือว่าเป็นเรื่องที่พวกเขาต้องให้ความสำคัญกับมันเป็นอย่างมาก ในครั้งนี้ทางเราก็มีประสบการณ์จริงของนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งก็เป็นข้อมูลและประสบการณ์ที่น่าสนใจมากๆ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังศึกษา หรือว่ากำลังจะไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นและอยากทำงานในประเทศแห่งนี้

Company_Information_Session_in_Japan_002

就職活動 (Shushokukatsudou) ก็คือ “กิจกรรมหางาน” หรือ “Job Hunting” นั่นเอง
ในประเทศญี่ปุ่นจะมีช่วงเวลาสำหรับหางานของเด็กจบใหม่ โดยที่ผ่านมาจะแตกต่างกันในแต่ละปีขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ในบทความนี้จะอ้างอิงจากปีที่ตัวเองหางานเป็นหลัก ซึ่งก็คือช่วงปลายปี 2014 ถึงกลางปี 2015 หมายความว่านักศึกษาในญี่ปุ่นควรหางานให้ได้ก่อนที่จะเรียนจบ การทำงานในญี่ปุ่นคือสิ่งที่เราตั้งใจเอาไว้ ตั้งแต่ก่อนได้ทุนมาเรียนที่ญี่ปุ่น แต่หลายคนบอกว่าการหางานของเด็กจบใหม่ในญี่ปุ่นนั้นลำบากยากเย็นแสนเข็ญ กว่าจะไปให้ถึงฝันและได้เข้าทำงาน

2

เพื่อเป็นการเตรียมตัวสำหรับลงสนาม เราได้ลงเรียนวิชาที่เรียกว่า “ภาษาญี่ปุ่นสำหรับการหางาน” และไปขอคำแนะนำจากฝ่ายสนับสนุนการหางานของมหาวิทยาลัยเป็นบางครั้ง สิ่งที่เรียนรู้มาก็คือ “การหางานก็เหมือนกับการหาแฟน เราต้องเข้ากันได้ ยอมรับกันและกันได้ แต่ไม่มีทางที่เราจะเจอคนที่ตรงตามความต้องการของเราทั้งหมด เพียงแค่มีคุณสมบัติที่ต่างคนต่างตามหาตรงกันเป็นส่วนใหญ่ก็ถือว่าดีมากแล้ว และต้องตามหาเป้าหมายของชีวิตให้เจอเพื่อหล่อเลี้ยงให้มีแรงพยายามต่อสู้ทำงาน สิ่ง 3 อย่างที่ควรคำนึงอยู่เสมอเมื่อสมัครงาน คือ 1.ทำไมต้องเป็นบริษัทนั้น 2.ทำไมต้องเป็นคนไทย และ 3.ทำไมต้องเป็นเราไม่ใช่คนอื่น”

เพื่อเป็นการฝึกให้สามารถถ่ายทอดความเป็นตัวเองออกมาได้มีเอกลักษณ์ที่สุด จะมีการฝึกแบบถามต่อยอดไปเรื่อยๆ เช่น

ทำไมสมัครบริษัทนี้: เพราะมีความสนใจเรื่องเครื่องสำอาง
ทำไมมีความสนใจเรื่องเครื่องสำอาง: เพราะเครื่องสำอางทำให้เราดูดี
พอเราดูดีแล้วจะได้ประโยชน์อะไร: มันจะทำให้เรามีความมั่นใจ

แรกๆ จะเหนื่อยมากเพราะจะถูกถามจนกว่าจะจนมุม พอจนมุมก็จะต้องไปคิดมาให้ได้ว่าเหตุผลคืออะไรแล้วมาเริ่มใหม่ การถามจี้ไปเรื่อยๆ แบบนี้อาจดูเหมือนกวนประสาท แต่วิธีนี้จะช่วยขุดตัวตนของเราออกมา การศึกษาข้อมูลบริษัทต่างๆเพื่อเอามาผูกกับประสบการณ์, ความสามารถและลักษณะนิสัยของเราก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

IMG_20140902_155250171-1024x492

แล้วช่วงเวลาที่ได้ลงสู่สนามจริงก็มาถึง… เราไล่สมัครทุกบริษัทที่สนใจ ส่งใบสมัครไปทั้งหมด 30 กว่าที่ (ถ้านับรวมบริษัทที่เข้าไปฟังสัมมนาแต่ไม่ได้สมัครก็จะรวมทั้งหมดประมาณ 40 กว่าบริษัท) ทุกใบเขียนด้วยมือใช้ปากกาดำ (ที่นี่ใช้ปากกาดำกัน เคยใช้ปากกาน้ำเงินตั้งแต่มาอยู่ที่ญี่ปุ่น) ถ้าเขียนผิดก็ต้องเริ่มเขียนแผ่นใหม่ตั้งแต่ต้น  เพราะคนญี่ปุ่นมองว่าการใช้น้ำยาลบคำผิดถือว่าไม่ให้เกียรติ ต้องทุ่มเทความตั้งใจให้เห็น ตีเส้นบรรทัดด้วยดินสอพอเขียนเสร็จแล้ว ก็ลบเส้นออก พยายามเขียนตัวเท่าๆกันจนเหมือนกับว่าพิมพ์ออกมา แทบทุกวันพอตื่นเช้ามาแต่งตัวเสร็จแล้วมองไปในกระจก ก็จะเจอผู้หญิงในชุดสูทสีดำ ที่ผมถูกมัดไว้และไม่มีเส้นผมสักเส้นกระเด้งออกมา การเดินสายไปสัมภาษณ์ก็มีทั้งจ่ายเงินเองบ้าง บริษัทช่วยออกเงินให้บ้าง ใช้เงินไปเยอะพอสมควร แต่ยังดีที่มหาวิทยาลัยที่เรียนอยู่มีระบบเปิดให้บริษัทมารับสมัครนักเรียนถึงในมหาวิทยาลัย ทำให้ประหยัดเงินได้ในระดับหนึ่ง

ระบบรับสมัครเด็กจบใหม่ของบริษัทในญี่ปุ่นโดยพื้นฐานจะมีขั้นตอนดังนี้

เข้าฟังสัมมนาบริษัท > ส่งใบสมัคร > สัมภาษณ์รอบที่ 1 > สัมภาษณ์รอบที่ 2 > สัมภาษณ์รอบที่ 3 > รับเข้าทำงาน

ที่นี่จะใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงไม่กี่ครั้งที่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ บางบริษัทก็จะมีกิจกรรมกลุ่ม มีสอบวัดความสามารถ(ซึ่งอ่านโจทย์ไม่ออกเพราะไม่เก่งเรื่องคันจิ) บางบริษัทมีสัมภาษณ์ถึง 9 ครั้ง ซึ่งมีโอกาสตกรอบได้ในทุกขั้นตอน ถ้าหากตกรอบก็เหมือนกับว่าที่ทำมาทั้งหมดกลายเป็นศูนย์ (แต่สิ่งที่ไม่มีวันเป็นศูนย์นั้นคือประสบการณ์ของเรา)

ในการรับสมัครงานคนญี่ปุ่นจะไม่สนใจผลการเรียนมากนัก (ไม่เคยถูกถามถึงผลการเรียนระหว่างสัมภาษณ์เลยสักครั้ง มีเพียงแค่ 3 บริษัทที่ในใบสมัครก็มีช่องให้กรอกผลการเรียน) จะเน้นที่ว่าคนคนนั้นมีประสบการณ์การทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นมากแค่ไหน มีทักษะการเข้าสังคมการสื่อสารกับผู้คนรอบข้างได้ดีหรือไม่ มีทัศนะคติความคิดที่เข้ากับองค์กรได้ดีไหม มักถูกถามถึงความคิดเห็นต่อวัฒนธรรมญี่ปุ่น สิ่งที่ทุ่มเททั้งเรื่องเรียนและกิจกรรม สุดท้ายก็จะถามเรื่องการวางแผนชีวิตและการงานในอนาคต ส่วนใหญ่จะถูกถามเรื่องครอบครัว (ซึ่งคนญี่ปุ่นบอกว่าเป็นเรื่องปกติที่จะมีการถามข้อมูลส่วนตัวเรื่องครอบครัว หากไม่สะดวกใจจะตอบ ก็สามารถบอกได้) บางครั้งก็เจอคนของบางบริษัทแสดงอาการเหยียดเมื่อเราถามความหมายของคำที่ไม่เคยได้ยิน ซึ่งต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก แต่โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นมิตรและเต็มใจช่วยเหลือ

icatch

มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่มองว่าการหางานของเด็กจบใหม่ในญี่ปุ่นนั้น คือสิ่งที่อึดอัดและตีกรอบชีวิตให้มากเกินไปเพราะต้องคอยทำตามค่านิยมเก่าๆ มี ”ชุดสูท รองเท้า กระเป๋า สำหรับหางาน”  ต้องค้นหาข้อมูล เตรียมคำถาม เตรียมคำตอบที่คิดว่าบริษัทจะถูกใจ แล้วเดินหน้าเข้าสนามหางานด้วยสูทสีดำเหมือนกันหมดทุกคนราวกับกองทัพหุ่นยนต์ ซึ่งถ้าหากลองไปตามงาน Job Fair ที่ญี่ปุ่นก็จะพบเจอความจริงที่ตรงตามนั้น ถึงแม้ว่าการหางานของเด็กจบใหม่ในญี่ปุ่นจะดูยุ่งยาก(และบั่นทอนจิตใจไปบ้าง) แต่ในมุมมองของเราสนามหางานนี้คือสิ่งที่นักเรียนต่างชาติในญี่ปุ่นควรลองดูสักครั้งเพื่อเป็นประสบการณ์ เพราะมันจะทำให้เราเติบโตขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งและได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มากมาย จะได้ทั้งความรู้เพิ่มเกี่ยวกับธุรกิจของญี่ปุ่น ค่านิยมเรื่องอาชีพและบริษัทที่โด่งดังในวงการต่างๆ รวมถึงมารยาททางธุรกิจของญี่ปุ่น

การหางานในญี่ปุ่นเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากและเต็มไปด้วยความเครียดเพราะอุปสรรคเรื่องภาษาและความไม่เข้าใจในวัฒนธรรม ทำให้หลายครั้งไม่สามารถสื่อสารได้ตรงตามใจนึกและอาจเป็นเหตุให้ไม่ผ่านเข้ารอบคัดเลือก อย่างไรก็ตามความเชื่อที่ว่า”สักวันเราจะไปถึงฝั่งฝันถ้าเราไม่หยุดพยายามและพัฒนาตนเอง” ทำให้สามารถอดทนฝ่าฟันผ่านมันมาได้และประสบความสำเร็จในที่สุด

สนามหางานของเด็กจบใหม่ในญี่ปุ่นไม่ได้เป็นเพียงแค่เส้นทางสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว แต่ยังเป็นสนามฝึกความอดทน ความพากเพียรพยายาม คือสถานที่ที่รวบรวมไว้ทั้ง น้ำตา หยาดเหงื่อ และรอยยิ้ม อย่างแท้จริง.

 

บทความโดย  :  ละมุนชมพู

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก

Dick Thomas Johnson@flickr
kakeru-life.com
www.funaisoken-career-inq.com
www.hoiku-shigoto.com
via-career.jp